คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1688/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งหลังสุดนอกจากนี้เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประกาศชื่อผู้ร้องในบัญชีรายชื่อผู้เสียสิทธิตามมาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ร้องก็มิได้ไปแจ้งเหตุการณ์ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 23 วรรคหนึ่ง (3)
(คำสั่งศาลฎีกา)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดสมุทรสาคร แต่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งดังกล่าวแจ้งว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากผู้ร้องไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 จึงเป็นผู้เสียสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 วรรคสอง และตามข้อ 8 (15) ของประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบเพราะผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรล่วงหน้าในวันที่ 30 มกราคม 2548 แล้ว ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้เสียสิทธิ ขอให้ศาลฎีกาเพิกถอนคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดสมุทรสาคร ที่ไม่รับผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดสมุทรสาคร และมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งดังกล่าวประกาศให้ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดสมุทรสาคร ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 23 วรรคหนึ่ง (3) บัญญัติว่าในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 21 หรือมาตรา 22 หรือแจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควรให้ถือว่าผู้นั้นเป็นบุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามมาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้ผู้นั้นเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้ร้องอ้างว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 30 มกราคม 2548 ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า (ทก.2) เอกสารหมาย ร.4 (ต้นฉบับเอกสารหมาย ร.5) ผู้ร้องจึงไม่เป็นผู้เสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เห็นว่า นายการุณ วรฉัตร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสมุทรสาคร เบิกความตอบทนายผู้ร้องขออนุญาตศาลถามว่า ในการใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น ผู้ใช้สิทธิจะต้องลงลายมือชื่อในเอกสารหลายฉบับ คือ บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.11) บัญชีรายชื่อผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง (ทก.2) และต้นขั้วบัตรเลือกตั้งบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.11) เอกสารหมาย ร.7 จะต้องใช้ทั้งในวันเลือกตั้งทั่วไปและวันเลือกตั้งล่วงหน้าเพื่อป้องกันมิให้ผู้ใช้สิทธิซ้ำซ้อน ปรากฏว่าตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.11) เอกสารหมาย ร.7 ไม่มีการลงบันทึกเลขหมายบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ร้องสถานที่ออกบัตร และลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ร้องทั้งๆ ที่เอกสารดังกล่าวในหน้าที่ 23 มีรายชื่อบุคคลลำดับตั้งแต่ 353 ถึง 374 ผู้ร้องอยู่ลำดับที่ 367 โดยลำดับที่ 366, 368 และ 369 ล้วนเป็นบุคคลชื่อสกุลเดียวกันกับผู้ร้องทั้งสิ้น หากผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าจริงแต่เจ้าหน้าที่มิได้กรอกหลักฐานและให้ผู้ร้องลงลายมือชื่อไว้ ก็ชอบที่บุคคลดังกล่าว ซึ่งไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 จะต้องเห็น แต่ไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งทักท้วง นอกจากนี้ยังได้ความจากนายกมล เจนวาณิชยานนท์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดสมุทรสาคร ว่า วิธีการใช้สิทธิเลือกตั้ง ประการแรกผู้มาใช้สิทธิต้องแสดงตน โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่กฎหมายกำหนดไว้ต่อเจ้าหน้าที่ จากนั้นผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งต้องลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.11) เอกสารหมาย ร.7 ณ จุดที่แสดงตนแล้วจึงลงลายมือชื่อในบัญชีชื่อผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า (ทก.2) เอกสารหมาย ร.5 ตามลำดับของผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จากนั้นจึงรับบัตรเลือกตั้งโดยผู้นั้นต้องลงลายมือชื่อในต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง และเข้าไปใช้สิทธิในคูหาเลือกตั้งจะเห็นได้ว่ากระบวนการต่างๆ ต้องกระทำต่อเนื่องกัน โอกาสที่ผู้ร้องและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยจะพลั้งเผลอไม่จดแจ้งเลขหมายบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ร้อง และมิได้ให้ผู้ร้องลงลายมือชื่อไว้ ย่อมผิดวิสัยและเป็นไปได้ยาก แม้ผู้ร้องจะมีนางสาวปุณยนันท์ ทองอรุณ และนายพนิต เหมือนใจ เบิกความเป็นพยานว่า พยานทั้งสองเป็นกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลาง พยานทั้งสองได้พบผู้ร้องมาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า แต่จากการตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า (ทก.2) เอกสารหมาย ร.5 ไม่ปรากฏลายมือชื่อของพยานทั้งสองในช่องลายมือชื่อกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลาง คงมีแต่ลายมือชื่อของบุคคลที่ระบุว่าเป็นประธานกรรมการประจำที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งและจากการพิจารณาบัญชีพยานผู้ร้องก็คือ นางสาวพัชริดา ดำรงคณาวุฒิ ซึ่งน่าจะเป็นผู้ที่ยืนยันได้ว่าผู้ร้องมาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าและลงลายมือชื่อตามเอกสารหมาย ร.5 จริงหรือไม่ แต่ผู้ร้องก็มิได้นำนางสาวพัชริดามาเบิกความโดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุขัดข้องประการใด ลำพังคำเบิกความของนางสาวปุณยนันท์และนายพนิต เป็นเพียงคำเบิกความลอยๆ จึงไม่น่าเชื่อถือ ประกอบกับเมื่อพิเคราะห์ลายมือชื่อที่ปรากฏในเอกสารหมาย ร.5 ลำดับที่ 13 ซึ่งผู้ร้องอ้างว่าเป็นลายมือชื่อของผู้ร้องเปรียบเทียบกับลายมือชื่อของผู้ร้องในคำร้อง เอกสารท้ายคำร้อง ใบแต่งทนายความ สำเนาบัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สำเนาใบเสร็จรับเงิน สำเนาใบรับใบสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเอกสารหมาย ร.1 ตลอดทั้งในเอกสารคำเบิกความของผู้ร้อง จะเห็นได้ว่าลายมือชื่อของผู้ร้องที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวข้างต้นเหมือนกันทุกฉบับ แต่กลับมีรูปแบบและลักษณะการลงลายมือชื่อแตกต่างจากเอกสารหมาย ร.5 อย่างสิ้นเชิง โดยผู้ร้องเองก็มิได้นำสืบให้ปรากฏว่าเหตุใดลายมือชื่อของผู้ร้องจึงแตกต่างกันเช่นนี้ ส่วนต้นขั้วบัตรเลือกตั้งซึ่งมีลายมือชื่อของผู้ใช้สิทธิปรากฏอยู่ อันเป็นเอกสารสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าจริง ผู้ร้องก็มิได้นำมาเป็นพยานสนับสนุนคำร้อง พยานหลักฐานของผู้ร้องที่นำสืบมาเป็นพิรุธขัดต่อเหตุผล ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งหลังสุด นอกจากนี้เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสมุทรสาครประกาศชื่อผู้ร้องในบัญชีรายชื่อผู้เสียสิทธิตามมาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ผู้ร้องก็มิได้ไปแจ้งเหตุการณ์ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดสมุทรสาคร มีคำสั่งไม่รับผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชอบแล้ว”
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

Share