คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 324-325/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์นำเอาเครื่องหมายการค้าของจำเลยมาดัดแปลงเป็นเครื่องหมายการค้าของตน การที่โจทก์ใช้และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสบู่หอมของโจทก์แม้จะเป็นสินค้าต่างจำพวกกันกับสินค้านมของจำเลยก็ตาม ย่อมเป็นทางให้จำเลยเสียหายเพราะผู้ซื้ออาจหลงผิดว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าที่จำเลยเป็นผู้ผลิตขึ้นได้ การใช้สิทธิของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต(อ้างฎีกาที่ 38/2503)
ตราบใดที่จำเลย (ในสำนวนหลังซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนแรก)ยังกระทำละเมิดต่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ (โจทก์ในสำนวนหลังซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนแรก)ย่อมฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าและให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าได้ ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องด้วยอายุความ

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน
คดีแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตราหมีซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวก ๔๗ ตามคำขอเลขที่ ๑๓๘๒๐ โดยโจทก์ได้รับโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้มาจากบริษัทถ้วยทองอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมสบู่และเป็นบริษัทเครือเดียวกันกับโจทก์ บริษัทโจทก์จึงได้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมสบู่สืบต่อมา โจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าตราหมีซึ่งมีรูปวัวกับนมวัวประกอบในภาพไปขอจดทะเบียนต่อกองเครื่องหมายการค้าอีก ตามคำขอเลขที่ ๓๙๓๘๖ แต่ไม่อาจจดทะเบียนได้เพราะจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ได้นำเอาเครื่องหมายการค้าตราหมีตามคำขอเลขที่ ๓๔๒๘๖ ไปขอจดทะเบียนใช้กับสินค้าจำพวก ๔๘ทั้งจำพวกเสียก่อนแล้ว กองเครื่องหมายการค้ายอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้จำเลย ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าโจทก์มีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๓๔๓๘๖ ในสินค้าจำพวก ๔๘ดีกว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๓๔๒๘๖ ของจำเลย ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวนั้นเสีย หากไม่สามารถบังคับให้เพิกถอนได้ทั้งจำพวกก็ขอให้มีคำสั่งจำกัดสิทธิแห่งการจดทะเบียนให้อยู่เฉพาะสินค้าอื่น ยกเว้นสินค้าสบู่หอม
คดีที่ ๒ บริษัทเบอร์เนอราฟเทน มิลซเกเซลล์ชาฟท์ กลับเป็นโจทก์ฟ้องบริษัทสำอางค์โก้เก๋ จำกัด และบริษัทถ้วยทองอุตสาหกรรม จำกัดบ้างว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตนมและอาหารนม ตลอดจนสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องส่งไปจำหน่ายทั่วโลก ใช้เครื่องหมายการค้ารูปหมีนั่งป้อนนมลูกด้วยขวดนม ซึ่งได้จดทะเบียนไว้ทั่วโลกและในประเทศไทยกว่า ๒๐ ปีแล้ว โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ตราหมี”ในจำพวกสินค้าที่ ๔๗ ตามคำขอเลขที่ ๓๔๒๘๖ ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่ได้รับคำปฏิเสธที่จะจดทะเบียนให้ อ้างว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า “ตราหมี” ของจำเลยซึ่งได้จดทะเบียนไว้แล้วในสินค้าจำพวกเดียวกันตามคำขอเลขที่ ๑๓๘๒๐ ซึ่งเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวนั้น เป็นการจงใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ผิดกันเพียงหมีถือขวดนมกับถือก้อนสบู่เท่านั้น นอกจากนั้นจำเลยที่ ๑ ยังได้ใช้เครื่องหมายการค้าตราหมีตามคำขอเลขที่ ๓๙๓๘๖ สำหรับสินค้าจำพวก ๔๘ในสบู่หอม จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๑๓๘๒๐และให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอ ๑๓๘๒๐ และคำขอเลขที่ ๓๙๓๘๖ ต่อไป
จำเลยในคดีแรกให้การว่า เครื่องหมายการค้ารูปหมีป้อนนมลูกด้วยขวดนมเป็นของจำเลยประดิษฐ์ขึ้น ในประเทศไทยจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ ๔๔๗๙ สิทธิในการจดทะเบียนไม่ว่าในสินค้าใดย่อมดีกว่าจำเลย
จำเลยในคดีที่ ๒ ให้การว่า เครื่องหมายการค้าตราหมีถือก้อนสบู่ตามคำขอเลขที่ ๑๓๘๒๐ ของจำเลยนั้น ได้จดทะเบียนครั้งแรก เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๒ ในสินค้าสบู่สามัญ จำพวก ๔๗ เครื่องหมายการค้าของจำเลยนี้เป็นรูปหมีนั่งถือก้อนสบู่ จึงแตกต่างกับรูปหมีที่นั่งป้อนนมลูก นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๑๓๘๒๐ ของจำเลยยังได้รับการจดทะเบียนก่อนโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนตามคำขอเลขที่ ๓๔๒๘๕หลายสิบปี จึงแสดงว่าโจทก์เป็นฝ่ายเลียนแบบของจำเลยมากกว่าทั้งเครื่องหมายการค้าตราหมีของโจทก์นั้นก็ใช้เฉพาะแต่กับอาหารนมโดยโจทก์ไม่เคยผลิตสบู่อันเป็นสินค้าจำพวก ๔๗, ๔๘ เลย คดีของโจทก์ยังขาดอายุความฟ้องร้องฐานละเมิดเพราะโจทก์หรือตัวแทนของโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่า จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๑๓๘๒๐นี้ตลอดมาเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีและสิบปีแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในคดีดำที่ ๑๑๔๘/๒๕๐๗(สำนวนคดีหลัง) และยกฟ้องโจทก์ในคดีดำที่ ๔๔๘๗/๒๕๐๖ (สำนวนคดีแรก)เฉพาะคำขอที่ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๓๔๒๘๖ ของจำเลยในคดีนั้นที่ได้จดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวก ๔๘และพิพากษาว่า โจทก์ในคดีดำที่ ๔๔๘๗/๒๕๐๖ (สำนวนคดีแรก) มีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๓๔๓๘๖ ในสินค้าจำพวก ๔๘ สบู่หอมได้
จำเลยในสำนวนคดีแรกและโจทก์ในสำนวนคดีหลังอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยในสำนวนคดีแรกและโจทก์ในสำนวนคดีหลังฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้คู่ความพิพาทกันว่า ใครจะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่ากันเท่านั้น ซึ่งก็เท่ากับว่าทั้งสองฝ่ายยอมรับแล้วว่าเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายนั้นเหมือนคล้ายกันอยู่แล้ว
สำนวนคดีแรก ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ได้นำเอาเครื่องหมายการค้าของจำเลยมาดัดแปลงเป็นเครื่องหมายการค้าของตน การที่โจทก์ใช้และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสบู่หอมของโจทก์ แม้จะเป็นสินค้าต่างจำพวกกันกับสินค้านมของจำเลยก็ตาม ย่อมเป็นทางให้จำเลยเสียหายเพราะผู้ซื้ออาจหลงผิดว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าที่จำเลยเป็นผู้ผลิตขึ้นได้การใช้สิทธิของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต ดังนัยที่ศาลฎีกาได้มีมติในที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘/๒๕๐๓ โจทก์ในสำนวนคดีแรกจึงจะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและใช้เครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ ๓๙๓๘๖ ในสินค้าจำพวก ๔๘(สบู่หอม) มิได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิขอจดทะเบียนได้จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลนี้ ฎีกาของจำเลยในสำนวนคดีแรกฟังขึ้น
ส่วนสำนวนคดีหลัง เมื่อได้ความตามที่จำเลย (คือโจทก์ในสำนวนคดีแรก) อ้างว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ขอจดทะเบียนใหม่สำหรับสินค้าจำพวก ๔๘ (สบู่หอม) ตามคำขอเลขที่ ๓๙๓๘๖ มีลักษณะเป็นอย่างเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวก ๔๗ (สบู่ซักผ้า)ตามคำขอเลขที่ ๑๓๘๒๐ ของจำเลยแล้ว กรณีก็ต้องฟังดังที่วินิจฉัยไว้ในสำนวนคดีแรกว่า การใช้และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ ๑๓๘๒๐ นั้น เป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริตด้วย โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า และให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๑๓๘๒๐ สำหรับสินค้าจำพวก ๔๗ ได้ ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องด้วยอายุความ เพราะสิทธิฟ้องร้องของโจทก์ย่อมมีอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่จำเลยยังกระทำละเมิดต่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่
พิพากษาแก้ เป็นให้ยกฟ้องโจทก์คดีแรกที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๓๙๓๘๖ในสินค้าจำพวก ๔๘ ได้นั้น เสียด้วย ส่วนสำนวนคดีหลัง ให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๑๓๘๒๐ ของจำเลยและให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๑๓๘๒๐ และ ๓๙๓๘๖ของจำเลยนั้นเสีย

Share