คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9544/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อหนี้ตามสัญญาจำนองที่ได้ประกันหนี้ไว้ระงับไป สัญญาจำนองจึงระงับสิ้นไปด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (1) ด้วยเหตุนี้จำเลยในฐานะผู้รับจำนองจึงไม่อาจหน่วงเหนี่ยวถือสิทธิใดๆ ในสัญญาจำนองและทรัพย์สินที่จำนองไว้ได้อีก การที่จำเลยปลดจำนองให้แก่ อ. และ ว. ซึ่งเป็นการกระทำไปตามหน้าที่ของเจ้าหนี้ผู้ที่ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ย่อมต้องคืนทรัพย์ซึ่งเป็นหลักประกันการชำระหนี้แก่เจ้าของทรัพย์ การที่จำเลยจดทะเบียนปลดจำนองจึงเป็นการดำเนินการไปตามหน้าที่ของเจ้าหนี้ผู้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ที่พึงต้องคืนหลักประกันการชำระหนี้ดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงหาเป็นละเมิดต่อโจทก์ไม่ และหาเป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงในสิทธิจำนองที่ได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ตามมาตรา 697 ไม่ เพราะบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหนี้กระทำให้สิทธิ บุริมสิทธิหรือจำนองที่มีเพื่อประโยชน์ในการได้รับชำระหนี้ลดน้อยลง อันเป็นการกระทำก่อนการได้รับชำระหนี้จนครบ โจทก์จึงจะอ้างว่าจำเลยทำให้เสื่อมสิทธิในการเข้าสวมสิทธิจำนองของตนเพื่อไล่เบี้ยต่อ อ. และ ว. หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 22,515,246.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 22,015,246.94 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์ และชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 45,865 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์ กับให้จำเลยให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นายอุรุพร กับนายวราวุฒิ ทำสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากจำเลย โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 12695 และ 12696 ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประกันในวงเงิน 25,000,000 บาท โดยมีโจทก์เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงิน 25,000,000 บาท และบริษัทอริยะโฮลดิ้ง จำกัด ทำสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากจำเลยในวงเงิน 30,000,000 บาท โดยโจทก์กับพวกเป็นผู้ค้ำประกันด้วยการจำนำสมุดเงินฝากประจำ บัญชีเลขที่ 047 – 3 – 02317 ของโจทก์ จำนวน 30,000,000 บาท เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้โดยไม่จำกัดจำนวน ต่อมาบริษัทอริยะโฮลดิ้ง จำกัด ผิดนัดไม่ชำระหนี้จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาและหักเงินในบัญชีดังกล่าวของโจทก์จำนวน 16,073,485.04 บาท ชำระหนี้แทน โจทก์ทำหนังสือแจ้งยินยอมให้จำเลยหักเงินในบัญชีและขอรับเงินส่วนที่เหลือคืน แต่จำเลยปฏิเสธอ้างว่าโจทก์ยังมีภาระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่มีต่อหนี้รายนายอุรุพรกับนายวราวุฒิ จำนวน 23,757,439.23 บาท พร้อมมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังโจทก์ นายอุรุพรและนายวราวุฒิ ต่อมาจำเลยหักเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวของโจทก์จำนวนที่เหลือ 22,015,246.94 บาท ชำระหนี้ แล้วนายอุรุพรกับนายวราวุฒิชำระหนี้ส่วนที่เหลือประมาณ 1,800,000 บาท แก่จำเลยจำเลยได้จดทะเบียนปลดจำนองที่ดินหลักประกันให้แก่นายอุรุพรกับนายวราวุฒิ โดยมิได้แจ้งส่งหลักฐานการหักชำระหนี้และส่งมอบที่ดินที่จำนองแก่โจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของนางอุรุพรกับนายวราวุฒิ และเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัทอริยะโฮลดิ้ง จำกัด ต่อจำเลย กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 680 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั่นคือ โจทก์เป็นบุคคลภายนอกที่เข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น ความมุ่งหมายในการเป็นผู้ค้ำประกันจึงเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ประสงค์จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ และเพื่อให้เกิดความเชื่อถือต่อลูกหนี้ บุคคลภายนอกซึ่งในคดีนี้ก็คือโจทก์จึงได้เข้าผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ว่าจะมีการชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้ ซึ่งก็คือจำเลยอย่างแน่นอน ในการเข้าทำสัญญาค้ำประกันของโจทก์ต่อจำเลย โจทก์ตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับนายอุรุพร นายวราวุฒิ และบริษัทอริยะโฮลดิ้ง จำกัด ทั้งโจทก์ได้มอบบัญชีเงินฝากประจำและทำหนังสือยินยอมให้หักเงินชำระหนี้ แสดงว่าโจทก์ผูกพันต่อจำเลย เพื่อประโยชน์ของจำเลยในการได้รับชำระหนี้อย่างแน่นอน ดังนั้น การที่จำเลยในฐานะเจ้าหนี้เมื่อประสงค์จะได้รับชำระหนี้คืนตามสิทธิที่มี จึงมีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ได้ตามหนังสือยินยอมที่โจทก์แสดงเจตนาแจ้งไว้ และเมื่อ นายอุรุพรกับนายวราวุฒิได้ชำระหนี้จนครบถ้วนแล้ว กรณีถือว่าหนี้ของนายอุรุพรกับนายวราวุฒิได้ระงับไปเพราะการชำระหนี้ ตามมาตรา 314 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเมื่อ นายอุรุพรกับนายวราวุฒิได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 12695 และ 12696 ของตนไว้เป็นประกันในการชำระหนี้ เมื่อหนี้ตามสัญญาจำนองที่ได้ประกันหนี้ไว้ระงับไป สัญญาจำนองจึงระงับสิ้นไปด้วย ตามมาตรา 744(1) ด้วยเหตุนี้จำเลยในฐานะผู้รับจำนองจึงไม่อาจหน่วงเหนี่ยวถือสิทธิใด ๆ ในสัญญาจำนองและทรัพย์สินที่จำนองไว้ได้อีก การที่จำเลยปลดจำนองให้แก่นายอุรุพรและนายวราวุฒิ ซึ่งเป็นการกระทำไปตามหน้าที่ของเจ้าหนี้ผู้ที่ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ย่อมต้องคืนทรัพย์ซึ่งเป็นหลักประกันการชำระหนี้แก่เจ้าของทรัพย์ การที่จำเลยจดทะเบียนปลดจำนองจึงเป็นการดำเนินการไปตามหน้าที่ของเจ้าหนี้ผู้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว ที่พึงต้องคืนหลักประกันการชำระหนี้ดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงหาเป็นละเมิดต่อโจทก์ไม่ และหาเป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับช่วงในสิทธิจำนองที่ได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ ตามมาตรา 697 ไม่ เพราะบทบัญญัติมาตราดังกล่าว เป็นกรณีที่เจ้าหนี้กระทำให้สิทธิ บุริมสิทธิ์ หรือจำนองที่มีเพื่อประโยชน์ในการได้รับชำระหนี้ลดน้อยลง อันเป็นการกระทำก่อนการได้รับชำระหนี้จนครบ โจทก์จึงจะอ้างว่าจำเลยทำให้เสื่อมสิทธิในการเข้าสวมสิทธิจำนองของตนเพื่อไล่เบี้ยต่อนายอุรุพรกับนายวราวุฒิหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และเมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นตามฎีกาของโจทก์และจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 80,000 บาท

Share