คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1084/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท โดยอาศัยสิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมคนหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมอีกคนหนึ่งจึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย การที่โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทอยู่แล้ว โจทก์จะมีสิทธิจดทะเบียนนิติกรรมได้ก่อนหรือไม่ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่โดยอาศัยสิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในบ้านและที่ดินพิพาทนั้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดที่ 124141 และบ้านเลขที่ 62 ต่อมาโจทก์จำเลยได้หย่ากัน จำเลยยอมโอนที่ดินและบ้านดังกล่าวซึ่งเป็นสินสมรสเฉพาะส่วนของจำเลยให้แก่เด็กชาย ท. บุตรของโจทก์จำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม จำเลยกับนาง น. ภริยาอีกคนหนึ่งของจำเลยได้อาศัยในที่ดินและบ้านดังกล่าวไม่ยอมออก ขอให้พิพากษาให้จำเลยกับบริวารย้ายออกจากบ้านดังกล่าว กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า ที่ดินและบ้านเป็นของนาง น. จำเลยอาศัยอยู่โดยความยินยอมของนาง น. เจ้าของกรรมสิทธิ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์จำเลยเคยเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 176 ตารางวา เดิมมีชื่อโจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมาศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาตามยอมให้โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนหย่ากันโดยจำเลยยอมโอนที่ดินเฉพาะส่วนของตนและบ้านพิพาทให้แก่เด็กชายทัติพงษ์พิจิตรพงศ์ชัย บุตรของโจทก์จำเลย ปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 379/2522 ของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมานางนิลนิดพิจิตรพงศ์ชัย หรือวิภัทราพันธ์ ภริยาอีกคนหนึ่งของจำเลยได้ฟ้องโจทก์จำเลยในคดีนี้เป็นจำเลยร่วมกันต่อศาลชั้นต้น โดยอ้างว่าบ้านและที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนางนิลนิดกับจำเลย ขอให้ลงชื่อนางนิลนิดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยร่วมกันไปจดทะเบียนโอนใส่ชื่อนางนิลนิดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 60 ตารางวา ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่7223/2523 คดีถึงที่สุดแล้วแต่ยังไม่มีการใส่ชื่อนางนิลนิดในโฉนดที่ดินพิพาท ปัญหาในชั้นนี้มีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีที่นางนิลนิดฟ้องโจทก์จำเลย ศาลได้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยไปจดทะเบียนโอนใส่ชื่อนางนิลนิดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุดแล้ว นางนิลนิดจึงมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทด้วย ปรากฏตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ก็รับว่า จำเลยอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทกับนางนิลนิด ซึ่งตรงกับทางนำสืบของจำเลยว่า จำเลยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนางนิลนิดซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วม โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินพิพาท ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์อยู่ในฐานะที่จะขอจดทะเบียนนิติกรรมได้ก่อนนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบรับฟังได้ว่า โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทอยู่แล้ว ในปัญหาเรื่องโจทก์มีสิทธิจดทะเบียนนิติกรรมได้ก่อนหรือไม่จึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ เพราะปรากฏว่า จำเลยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของนางนิลนิดซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในบ้านและที่ดินพิพาทดังที่ได้วินิจฉัยแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share