คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5603/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจำนำเครื่องจักรระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านระบุว่า คู่สัญญาตกลงกันให้ผู้รักษาทรัพย์สินจำนำเป็นผู้รักษาเครื่องจักร แม้ผู้จำนำจะได้รับอนุญาตใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเครื่องจักรที่จำนำนั้น ช. เป็นผู้รักษาโดยลูกหนี้เป็นผู้ใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจของตนมาโดยตลอด จึงเป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งในการตีความการแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 เมื่อเจตนาที่แท้จริงของลูกหนี้ต้องการที่ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำ การที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับจำนำยอมให้ลูกหนี้เข้าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำตาม ป.พ.พ. มาตรา 769 (2) แล้ว สิทธิจำนำจึงระงับสิ้นไป ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักร

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์ คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอริ่ง จำกัด เป็นผู้ทำแผนของลูกหนี้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2541 ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ส เอฟเอเอส จำกัด เป็นผู้ทำแผนคนใหม่ของลูกหนี้ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งผู้คัดค้านที่ 2 ในส่วนที่ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า สัญญาจำนำเครื่องจักรระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับลูกหนี้มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย คำสั่งของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าหนี้มีประกัน คำสั่งของผู้คัดค้านที่ 2 ที่อนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ศาลล้มละลายกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดไต่สวนและนัดฟังคำสั่ง
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ชอบหรือไม่ เห็นว่า ป.พ.พ. มาตรา 747 บัญญัติว่า “อันว่าจำนำนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้” ดังนั้น การที่ลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 ตกลงทำสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 โดยมีเงื่อนไขระบุในข้อ 1 ว่า ผู้จำนำตกลงจำนำเครื่องจักรตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาไว้แก่ผู้รับจำนำและได้ส่งมอบเครื่องจักรดังกล่าวให้แก่ผู้รับจำนำหรือผู้รักษาทรัพย์สินจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ทุกลักษณะซึ่งผู้จำนำเป็นหนี้ผู้รับจำนำ และข้อ 3. คู่สัญญาตกลงกันให้ผู้รักษาทรัพย์สินจำนำตามสัญญารักษาทรัพย์สินจำนำท้ายสัญญานี้เป็นผู้รักษาเครื่องจักรแทนผู้รับจำนำ ถ้าแม้ผู้จำนำจะได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำ ก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำ แต่ถือว่ายังอยู่ในครอบครองของผู้รักษาทรัพย์สินจำนำ และตามสัญญารักษาทรัพย์สินจำนำลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้รับจำนำกับนายชาญผู้รักษาทรัพย์สินจำนำ ซึ่งระบุว่าได้กระทำในฐานะส่วนตัวเมื่อพิจารณาจากสัญญาทั้งสองฉบับแล้ว ถือได้ว่าลูกหนี้ได้ส่งมอบเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินจำนำให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยลูกหนี้และผู้คัดค้านที่ 1 ตกลงกันให้นายชาญเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สินจำนำไว้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ยอมให้เครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนำ จำนำจึงระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 769 (2) หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากสัญญาจำนำเครื่องจักรมีถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรในข้อ 3. ว่า คู่สัญญาจำนำตกลงกันให้ผู้รักษาทรัพย์สินจำนำเป็นผู้รักษาเครื่องจักร แม้ผู้จำนำจะได้รับอนุญาตใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำ แต่ถือว่ายังอยู่ในครอบครองของผู้รักษาทรัพย์สินจำนำ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เครื่องจักรที่จำนำนั้นนายชาญเป็นผู้รักษาทรัพย์สินจำนำโดยลูกหนี้เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำในการประกอบธุรกิจของตนมาโดยตลอด โดยนายปกรณ์ผู้รับมอบอำนาจจากผู้คัดค้านที่ 1 ให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านที่ 2 ว่า ทรัพย์สินจำนำเป็นเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศ ผู้จำนำสั่งซื้อเข้ามาเพื่อผลิตสินค้าออกจำหน่ายการเดินเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้าออกมาได้เร็วเท่าใดก็สามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้จำนำ ซึ่งสามารถนำมาชำระคืนให้แก่ ผู้รับจำนำ การจำนำเครื่องจักรจึงเป็นหนทางที่สะดวกรวดเร็วกว่าการทำจำนอง แสดงให้เห็นถึงเจตนาของลูกหนี้ที่ต้องการที่จะใช้เครื่องจักรนำมาผลิตสินค้าเพื่อประโยชน์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยมิได้คำนึงถึงการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายที่บัญญัติไว้เพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต การที่ลูกหนี้ทำสัญญาจำนำเครื่องจักรไว้ โดยมีถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรระบุว่า แม้ผู้จำนำจะได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเครื่องจักรที่จำนำก็ไม่ถือว่าเครื่องจักรกลับคืนไปสู่การครอบครองของผู้จำนำ ก็เป็นการเขียนสัญญาไว้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งในการตีความการแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 เมื่อเจตนาที่แท้จริงของลูกหนี้ต้องการที่จะให้ประโยชน์จากเครื่องจักรอันเป็นทรัพย์สินจำนำ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับจำนำเครื่องจักรยอมให้ลูกหนี้เข้าใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินจำนำ ย่อมเป็นการยอมให้ทรัพย์สินจำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จำนำตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 769 (2) แล้ว สิทธิจำนำของผู้คัดค้านที่ 1 จึงระงับสิ้นไปตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โดยเห็นชอบตามที่ผู้คัดค้านที่ 2 อนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนคำสั่งผู้คัดค้านที่ 2 ในส่วนที่อนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามสัญญาจำนำเครื่องจักรลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share