คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5338/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อทรัพย์ที่ขายทอดตลาดมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ จำเลยก็ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีเงินได้จากการขายทรัพย์ แม้เงินดังกล่าวจะต้องถูกนำไปชำระหนี้ก็เป็นผลให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้อันเป็นประโยชน์แก่จำเลย จึงถึอได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีโดยการให้ผู้ซื้อทรัพย์หัก ณ ที่จ่าย เนื่องจากเงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินย่อมมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 50 (5) (ข) และนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 52 วรรคสอง การที่ผู้ซื้อทรัพย์ชำระราคาเต็มจำนวนตามราคาขายทอดตลาดโดยยังมิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ก็เท่ากับผู้ซื้อทรัพย์ได้มอบเงินส่วนที่เป็นภาษีเงินได้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปด้วย ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิขอรับเงินส่วนที่เป็นภาษีเงินได้คืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 169/2546 เพื่อนำส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,116,994.90 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,915,070.28 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 10 สิงหาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความจำนวน 35,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองตกลงชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ได้ทันที ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัด โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดห้องชุดของจำเลยที่ 1 เลขที่ 333/263 – 333/265 ชั้นที่ 14 อาคารเลขที่ 333 อาคารชุดรัชอาภา ทาวเวอร์ ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอจตุจัตร (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด โดยมีนายพิพัฒน์ เป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 2,020,000 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 สิ้นสุดวันที่ 8 พฤศจิกายน 2546 โดยหักเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดคืนภาษีเงินได้ที่ผู้ซื้อทรัพย์ชำระแทนจำเลยในการรับโอนทรัพย์สินแก่ผู้ซื้อทรัพย์จำนวน 80,287 บาท โจทก์คัดค้านการจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีสิทธินำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไปชำระคืนให้แก่ผู้ประมูลซื้อทรัพย์ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 153 (2) มาตรา 318 และมาตรา 319 ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีในการหักเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดจ่ายคืนเป็นค่าภาษีเงินได้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและไม่ใช่คู่ความในคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ร้องขอเฉลี่ยทรัพย์แต่อย่างใด ขอศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 ใหม่ โดยระงับการหักเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยทั้งสองคืนให้แก่ผู้ประมูลซื้อทรัพย์เป็นค่าภาษีเงินได้ต่อไป
เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการคัดค้านบัญชีแสดงรายรับ – จ่ายเงิน ว่า การจ่ายคืนภาษีให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายคืนเงินภาษีให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ตามบัญชีแสดงรายการรับจ่ายครั้งที่ 1 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2546 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8) และผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 (5) (ข) และนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 52 วรรคสอง เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ได้ชำระราคาเต็มจำนวนตามราคาขายทอดตลาดโดยยังมิได้หักภาษี ณ ที่จ่าย เท่ากับผู้ซื้อทรัพย์ได้มอบเงินส่วนที่เป็นภาษีเงินได้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปด้วย ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิขอรับเงินส่วนที่เป็นภาษีเงินได้คืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อนำส่งตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายต่อไป ที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดต้องถูกนำไปชำระหนี้ ไม่มีเงินเหลือคืนให้จำเลย จำเลยจึงมิใช่ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีนั้น เห็นว่า เมื่อทรัพย์ที่ขายทอดตลาดมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของ จำเลยย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีเงินได้จากการขายทรัพย์ดังกล่าว แม้เงินดังกล่าวจะต้องถูกนำไปชำระหนี้ก็เป็นผลให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้อันเป็นประโยชน์แก่จำเลย จึงถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีโดยการให้ผู้ซื้อทรัพย์หัก ณ ที่จ่ายและนำส่งต่อไป และที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปอีกว่า หลังจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จำหน่ายทรัพย์สินเสร็จและได้หักค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีไว้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องทำบัญชีส่วนเฉลี่ยแสดงจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิแต่ละคนจากเงินรายได้จำนวนสุทธิที่พอแก่การที่จะจ่ายให้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เหล่านั้นไม่มีกฎหมายกำหนดให้จ่ายเงินแก่ผู้ซื้อทรัพย์ เห็นว่า ในเรื่องการคืนเงินค่าภาษีนี้มีคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 169/2546 กำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์มีสิทธิขอรับคืนภาษีเงินได้ซึ่งต้องจ่ายไปในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โดยจะต้องไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 15 วัน นับแต่วันรับหนังสือโอนกรรมสิทธิไปดำเนินการซึ่งในการขายทอดตลาดรายนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้โฆษณาคำสั่งดังกล่าวข้างต้นลงในประกาศขายทอดตลาดด้วยปรากฏตามหนังสือรายงานข้อเท็จจริงของเจ้าพนักงานบังคับคดีลงวันที่ 28 มิถุนายน 2547 จึงถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการถูกต้องตามเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาด ดังนั้น ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้จัดทำบัญชีโดยให้คืนภาษีแก่ผู้ซื้อทรัพย์ปรากฏตามบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2546 เพื่อให้ผู้ซื้อทรัพย์นำส่งแก่เจ้าพนักงานผู้จัดเก็บต่อไปนั้นย่อมเป็นการชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share