คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8868/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 1 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การมาศาลและนั่งฟังการพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นสืบพยานจนเสร็จการพิจารณา หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงแจ้งต่อศาลว่าจะให้ทนายความยื่นคำร้องขอต่อสู้คดี ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 มาศาลในวันดังกล่าวซึ่งเป็นวันก่อนที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 และการไม่แจ้งในโอกาสแรกว่ามีความประสงค์จะต่อสู้คดี ทำให้ศาลสามารถที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ จำเลยมีสิทธิเพียงที่จะถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบพยานได้ แต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้ตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง บทบัญญัติดังกล่าวในวรรคสามบัญญัติไว้ชัดเจนว่าจำเลยจะขอยื่นคำให้การตามมาตรานี้หรือจะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มาศาลก่อนวินิจฉัยชี้ขาดคดีและไม่แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจขอยื่นคำให้การหรือร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า ส. และ ม. ผู้ลงชื่อในคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีในนามของจำเลยที่ 2 และที่ 5 ตามลำดับ ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 และที่ 5 แต่การที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้รับบัตรภาษีไปตามคำร้องขอรับโอนดังกล่าวที่ยื่นต่อโจทก์ และได้นำบัตรภาษีไปใช้ชำระค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 2 และที่ 5 แล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 เชิด ส. และ ม. ออกเป็นตัวแทนของตนในการกระทำดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 5 จึงต้องรับผิดตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนเงินชดเชยค่าภาษีอากรที่โจทก์ได้จ่ายไปในรูปบัตรภาษี พร้อมดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 2,070,882.90 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 310,233.26 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 308,816.66 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,193,327.22 บาท และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 3,639,182.26 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การทำนองเดียวกัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง จำเลยที่ 1 แจ้งต่อหน้าศาลและยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและประสงค์จะต่อสู้คดี โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ศาลภาษีอากรกลางงดไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ค่าคำร้องเป็นพับ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงิน 3,639,182.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยก่อนฟ้องเป็นเงิน 1,244,077.78 บาท รวมเป็นเงิน 4,883,260.04 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 3,639,182.26 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นด้วย โดยจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา โดยเสียเฉพาะค่าขึ้นศาลเป็นเงิน 200 บาท ค่าธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ได้รับยกเว้น
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอยื่นคำให้การและขอพิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าในวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 5 จำเลยที่ 1 ได้มาศาล และนั่งฟังการพิจารณาตั้งแต่เริ่มต้นสืบพยานจนกระทั่งเสร็จการพิจารณา หลังจากเสร็จการพิจารณาแล้ว จำเลยที่ 1 จึงแจ้งต่อศาลว่าจำเลยที่ 1 จะให้ทนายความยื่นคำร้องขอต่อสู้คดี ปรากฏรายละเอียดตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง ลงวันที่ 19 สิงหาคม พุทธศักราช 2546 (ที่ถูก 2547) เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 มาศาลในวันดังกล่าวซึ่งเป็นวันก่อนที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี จำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 และการไม่แจ้งในโอกาสแรกว่ามีความประสงค์จะต่อสู้คดีทำให้ศาลสามารถที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ จำเลยมีสิทธิเพียงที่จะถามค้านพยานโจทก์ที่อยู่ระหว่างการสืบได้ แต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้ตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง บทบัญญัติดังกล่าวในวรรคสามบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยจะขอยื่นคำให้การตามมาตรานี้หรือจะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีและไม่แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจขอยื่นคำให้การ หรือร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การและขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 1 จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จะต้องรับผิดชดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับไปต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งว่า บัตรภาษีที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับไปจากโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้รับโอนมาจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 อ้างต่อโจทก์ว่าได้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรและมีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ.2524 โจทก์จึงได้จ่ายเงินชดเชยดังกล่าวในรูปของบัตรภาษี ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนบัตรภาษีดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นเงิน 1,530,989.48 บาท, 226,654.44 บาท, 226,654.44 บาท และ 1,654,883.90 บาท ตามลำดับ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้นำบัตรภาษีดังกล่าวไปชำระค่าภาษีอากรของจำเลยทั้งสี่หมดแล้ว ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ 1 สำแดงเท็จในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรโดยตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ 1 มิได้ส่งสินค้าออกไปจริง โจทก์จึงทวงถามให้จำเลยทั้งห้าชำระเงินตามมูลค่าบัตรภาษีที่ได้รับไปคืน แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉย เมื่อโจทก์อ้างว่าในการขอรับโอนบัตรภาษีมาจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ทำคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษียื่นต่อโจทก์ ในคำร้องดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ในข้อ 2 ว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร และเกิดความเสียหายแก่กรมศุลกากรไม่ว่ากรณีใด ๆ ข้าพเจ้ายินยอมรับผิดต่อกรมศุลกากรทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในประการแรกที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต่อสู้ว่าผู้ที่ลงชื่อในคำร้องขอโอนสิทธิตามบัตรภาษีไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ ซึ่งได้พิจารณาแล้ว สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 5 ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า นางสาวสุชาดา และนายมานิตย์ ผู้ที่ลงชื่อในนามของจำเลยที่ 2 และที่ 5 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 และที่ 5 ตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ต่อสู้ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความต่อไปว่า จำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้บัตรภาษีไปตามคำร้องขอรับโอนดังกล่าว และได้ใช้บัตรภาษีชำระค่าภาษีของจำเลยที่ 2 และที่ 5 ไปหมดแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 5 ได้เชิดนางสาวสุชาดาและนายมานิตย์ออกเป็นตัวแทนของตนในการกระทำดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 5 จึงต้องรับผิดตามคำร้องขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ 1,530,989.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ 226,654.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 18 เมษายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ 226,654.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 18 เมษายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ 1,654,883.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 18 เมษายน 2543 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งและคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share