คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 269 ลงวันที่28 มิถุนายน 2515 ข้อ 67 วรรคสอง ให้สิทธิเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนที่จะฟ้องเรียกเงินส่วนที่ตนเห็นว่าควรจะได้รับภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ตนรับเงินค่าทดแทนจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับอายุความ มาตรา 169ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปโจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้ ส. รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตามที่จำเลยทั้งสองกำหนดเป็นค่าทดแทนให้โดยรับเช็คจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่21 มิถุนายน 2528 สั่งจ่าย วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528ซึ่งโจทก์ที่ 2 สามารถนำเช็คไปเรียกเก็บเงินได้ทันทีเพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 2 เริ่มนับแต่วันที่ได้รับเช็คคือวันที่ 21 มิถุนายน 2528 แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับเงินค่าทดแทนจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2528 อายุความ1 ปีย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ที่ 2 ฟ้องเรียกเงินส่วนที่เห็นว่าควรจะได้รับเพิ่มเมื่อวันที่11 กรกฎาคม 2529 คดีของโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าทดแทนที่ดินและค่าทดแทนการรื้อถอน ค่าขนย้ายทรัพย์สินอาคารที่เพิ่มขึ้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ที่ 2 ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าทดแทนสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 44245 และโฉนดเลขที่ 44246 เพิ่มภายใน1 ปี นับแต่วันที่ได้รับเงินค่าทดแทน คือวันที่ 21 มิถุนายน 2528จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน2,169,601.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2524 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ใช้บังคับ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ฟ้องโจทก์ที่ 2 ในส่วนที่เรียกค่าทดแทนสำหรับที่ดินเพิ่มให้ยกโจทก์ที่ 2 และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นฎีกาประการแรกว่าฟ้องของโจทก์ที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าทดแทนที่ดินขาดอายุความหรือไม่ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่28 มิถุนายน 2515 ข้อ 67 วรรคสอง บัญญัติว่า การที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์รับชำระค่าทดแทน แต่ยังไม่ยินยอมตกลงในจำนวนเงินค่าทดแทนที่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์กำหนดหรือรับหรือไม่รับเงินค่าทดแทนที่เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์วางไว้ต่อศาล ไม่ตัดสิทธิเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่จะฟ้องเรียกเงินส่วนที่ตนเห็นว่าควรจะได้รับภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ตนรับเงินค่าทดแทนจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับอายุความ มาตรา 169ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้นายสวัสดิ์ ฮุนตระกูล รับเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 44245 และ 44246 เป็นเงิน 357,964.20 บาทตามที่จำเลยทั้งสองกำหนดเป็นค่าทดแทนให้ โดยรับเช็คตามเอกสารหมาย จ.41 จากนางเพ็ญศรี จรุงคนธ์ เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2528 เป็นเช็คของ ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งจ่ายวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528 โจทก์ที่ 2 นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2528 และธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็คได้เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2528 จะเห็นได้ว่า เช็คตามเอกสารหมาย จ.41 สั่งจ่ายวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2528 ซึ่งโจทก์ที่ 2 สามารถนำ เช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินได้ทันทีเพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 2 เริ่มนับแต่วันที่ได้รับเช็คคือวันที่ 21 มิถุนายน 2528 แล้ว เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าโจทก์ที่ 2ได้รับเงินค่าทดแทนจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2528 อายุความ 1 ปี ย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ที่ 2 ฟ้องเรียกเงินส่วนที่เห็นว่าควรจะได้รับเพิ่มเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2529 คดีของโจทก์ที่ 2 ในส่วนนี้จึงขาดอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่โจทก์ที่ 2 ละเลยไม่นำเช็คเข้าเรียกเก็บเงินหาใช่เป็นเหตุให้ขยายความอายุความแต่อย่างใดไม่ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share