คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1436/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ช. เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลย จำนวนร้อยละ 43.46 จึงมีอำนาจเรียกประชุมวิสามัญได้ เมื่อ ช. เรียกประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมดและมีการประชุมตามกำหนดจึงเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่มีอำนาจลงมติแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการบริษัทจำเลยได้ ตามป.พ.พ. 1173,1174,1151 และเมื่อการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวที่ประชุมได้มีมติเอกฉันท์ให้ถอดถอนกรรมการชุดเดิมทั้งหมดและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ 5 คน โดย ช.และว. เป็นกรรมการชุดใหม่มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันกระทำการแทนจำเลยได้ตามมติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญได้ให้อำนาจไว้ ดังนี้ ช.กับว.จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันแต่งตั้งทนายความแทนบริษัทจำเลยได้ และทนายความดังกล่าวย่อมมีอำนาจอุทธรณ์แทนบริษัทจำเลย ศ. กรรมการของบริษัทจำเลยเป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยกระทำการผูกพันจำเลยได้ การที่ ศ.เป็นโจทก์ร่วมกับลูกจ้างคนอื่นของจำเลยรวม 366 คน ฟ้องบริษัทจำเลยให้จ่ายค่าจ้างค้างชำระและดอกเบี้ยแก่ตนเอง โดยในระหว่างดำเนินคดี ศ. ได้กระทำการในฐานะผู้จัดการบริษัทจำเลยด้วยการแต่งตั้งทนายความเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ชำระเงินตามฟ้องให้แก่ ศ. และโจทก์อื่นทุกคน และศาลแรงงานกลางได้พิพากษาคดีตามยอม ดังนี้ ประโยชน์ทางได้ทางเสียระหว่างจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลกับ ศ. โจทก์ที่ 364 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยเป็นปฏิปักษ์แก่กัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 80 ดังนั้นทนายความซึ่งแต่งตั้งโดย ศ. จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระเงินให้แก่ ศ. โจทก์ที่ 364 ได้ และ ป.พ.พ. มาตรา 80 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำพิพากษาตามยอมของศาลแรงงานกลางระหว่าง ศ. กับจำเลยจึงขัดต่อ ป.วิ.พ.มาตรา 138(2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลแรงงานกลางระหว่างโจทก์อื่นกับบริษัทจำเลยไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 80จึงมีผลผูกพันจำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ทั้ง 366 สำนวนฟ้องเป็นใจความอย่างเดียวกันว่าจำเลยจ้างโจทก์ทั้ง 366 คน เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยมิได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้ง 366 คน ตั้งแต่งวดประจำวันที่ 15 มีนาคม 2531ถึงงวดประจำวันที่ 15 มกราคม 2532 จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างโจทก์แต่ละคนตามที่ปรากฏในคำฟ้องแต่ละสำนวนพร้อมดอกเบี้ย ก่อนถึงวันนัดพิจารณา จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้ง366 คน โดยจำเลยยอมชำระเงินตามฟ้องในแต่ละสำนวนให้โจทก์ทั้ง366 คน ศาลแรงงานกลางได้พิพากษาให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยทั้ง 366 สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานเห็นว่า พฤติการณ์ต่าง ๆ ตามที่จำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างในอุทธรณ์จะเป็นความจริงหรือไม่ยังไม่ได้ความยุติ จึงมีคำสั่งให้ศาลแรงงานกลางไต่สวนให้ได้ความจริงว่า ข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยอุทธรณ์มาหรือไม่
ศาลแรงงานกลางได้ทำการไต่สวนและฟังข้อเท็จจริงส่งมาให้ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับอำนาจอุทธรณ์ของจำเลยตามคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ทั้ง 366สำนวนก่อนว่า นางชนัตถ์ ปิยะอุย กับนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพมีอำนาจกระทำแทนจำเลยในการอุทธรณืคดีนี้หรือไม่ ได้ความตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า จำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2517 มีกรรมการ 14 คนมีนายศุภชัย บูลกุล โจทก์ที่ 362 นายคาร์ล หลุยส์ โคลเลอร์ โจทก์ที่ 363 และนายศิริชัย บูลกุล โจทก์ที่ 364 รวมอยู่ด้วย นายศิริชัยบูลกุล ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลย หรือกรรมการอื่น3 คน ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของจำเลยทำการผูกพันจำเลยได้ ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย ล.1 เมื่อวันที่ 10 มกราคม2532 นางชนัตถ์ ปิยะอุย ซึ่งเป้นผู้ถือหุ้นร้อยละ 43.46 ของจำเลยได้มีหนังสือเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 19 มกราคม 2532เวลา 10 นาฬิกา ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2532 โจทก์ทั้ง 366 คนได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยแล้วในวันที่ 18 มกราคม 2532 ทนายจำเลยซึ่งแต่งตั้งโดยนายศิริชัย บูลกุลได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้แทนโจทก์ยินยอมชดใช้ค่าจ้างและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้ง 366 คน เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2532 ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยและมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอนกรรมการชุดเดิมของจำเลยทั้งหมด และแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ 5 คน ประกอบด้วยนางชนัตถ์ ปิยะอุย หม่อมราชวงศ์ชีโวสวิชากร วรวรรณ นายสมพจน์ ปิยะอุย นางผาณิต พูนศิริวงศ์และนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพให้อำนาจกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันทำการผูกพันจำเลยได้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2532นางชนัตถ์ ปิยะอุย กับนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ กรรมการจำเลยได้ร่วมกันลงลายมือชื่อแต่งตั้งทนายความยื่นอุทธรณ์คดีนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่านางชนัตถ์ ปิยะอุย เป็นผู้ถือหุ้นจำนวนร้อยละ 43.46 ของจำเลย จึงมีอำนาจเรียกประชุมวิสามัญได้ การเรียกประชุมตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมานั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2ว่า เป็นการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมด เมื่อมีการประชุมตามกำหนดจึงเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่มีอำนาจลงมติแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการบริษัทได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1173, 1174,1151 ในการประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2532ที่ประชุมใหญ่ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอนกรรมการชุดเดิมทั้งหมดและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ 5 คนนางชนัตถ์ ปิยะอุย และนายวีระวงค์จิตต์มิตรภาพ กรรมการใหม่ จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันกระทำการแทนจำเลยได้ตามที่มติของที่ประชุมใหญ่วิสามัญได้ให้อำนาจไว้นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมายังได้ความอีกว่าเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2532 กระทรวงพาณิชย์ได้ออกหนังสือรับรองแสดงว่าได้รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการและอำนาจกรรมการของจำเลยใหม่แล้วตามเอกสารหมาย ล.3 ดังนั้น นางชนัตถ์ ปิยะอุยกับนายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันแต่งตั้งทนายความแทนจำเลยได้ และทนายความที่ได้แต่งตั้งจากบุคคลทั้งสองย่อมมีอำนาจอุทธรณ์แทนจำเลย…
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าคำพิพากษาตามยอมของศาลแรงงานกลางละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 หรือไม่ ประเด็นนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2532โจทก์ทั้ง 366 คน รวมทั้งนายศิริชัย บูลกุล ด้วย ได้แต่งตั้งให้นายศิระ สู้ทุกทิศเป็นผู้แทนโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีนี้ ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2531ถึงวันที่ 15 มกราคม 2532 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2532 ผู้แทนโจทก์กับทนายจำเลยซึ่งแต่งตั้งโดยนายศิริชัย บูลกุล ได้ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ศาลแรงงานกลางได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้แล้วพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน เห็นว่า การที่นายศิริชัย บูลกุล กรรมการของจำเลยมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยกระทำการผูกพันจำเลยได้ นายศิริชัย บูลกุล จึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยได้และมีฐานะเป็นผู้จัดการของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคล นายศิริชัยบูลกุลได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยให้จ่ายค่าจ้างค้างชำระและดอกเบี้ยแก่ตนเอง ในระหว่างดำเนินคดีนายศิริชัย บูลกุล ยังได้กระทำการในฐานะผู้จัดการของจำเลยด้วยการแต่งตั้งนายชัยวัฒน์ หัตถวิจิตร เป็นทนายจำเลยเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความยินยอมชำระเงินตามฟ้องให้แก่นายศิริชัย บูลกุล และโจทก์อื่นทุกคน เห็นได้ว่าประโยชน์ทางได้ทางเสียระหว่างจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลกับนายศิริชัย บูลกุลโจทก์ที่ 364 ผู้จัดการของจำเลยเป็นปฏิปักษ์แก่กัน ต้องตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“ในการอันใดถ้าประโยชน์ทางได้ทางเสียของนิติบุคคลฝ่ายหนึ่งกับของตัวผู้จัดการอีกฝ่ายหนึ่งเป็นปฏิปักษ์แก่กัน ท่ายว่าในการอันนั้นผู้จัดการเป็นอันไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนได้ ในกรณีเช่นนี้ต้องแต่งตั้งผู้แทนขึ้นเฉพาะการนั้นตามบทบัญญัติมาตราก่อนนี้”
ดังนั้น นายชัยวัฒน์ หัตถวิจิตร ทนายจำเลยซึ่งแต่งตั้งโดยนายศิริชัย บูลกุล โจทก์ที่ 364 จึงไม่มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระเงินให้แก่นายศิริชัย บูลกุล โจทก์ที่364 ได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80เป็นเรื่องอำนาจกระำทการแทนของผู้จัดการนิติบุคคล เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำพิพากษาตามยอมของศาลแรงงานกลางในคดีหมายเลขดำที่ 658/2532 ระหว่างนายศิริชัยบูลกุล โจทก์ที่ 364 กับจำเลยจึงขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 138(2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 อุทธรณ์ของจำเลยในสำนวนนี้ฟังขึ้น ส่วนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลแรงงานกลางระหว่างโจทก์อื่นกับจำเลยนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 หมายถึงเฉพาะประโยชน์ทางได้ทางเสียระหว่างนิติบุคคลกับผู้จัดการผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลเท่านั้น หาได้หมายถึงบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้จัดการ เพราะบุคคลอื่นไม่อาจจะกระทำการแทนแล้วก่อให้ประโยชน์ทางได้ทางเสียเป็นปฏิปักษ์แก่กันได้ นายศิริชัย บูลกุล จึงมีอำนาจเป็นผู้แทนจำเลยเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์อื่นได้ ทนายจำเลยที่นายศิริชัย บูลกุลเป็นผู้แต่งตั้งก็มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์อื่นได้เช่นกัน หาเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 80 ไม่คำพิพากษาตามยอมระหว่างโจทก์อื่นกับจำเลย จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว และมีผลผูกพันจำเลย…
จำเลยอุทธรณ์เป็นประเด็นต่อไปว่า สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ทั้งหมดกับนายศิริชัย บูลกุล ซึ่งเป็นผู้ดำเนินคดีแทนจำเลยได้ทำขึ้นเป็นการฉ้อฉลจำเลยให้ได้รับความเสียหายโดยนายศิริชัยบูลกุล แสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับโจทก์อื่นสัญญาประนีประนอมยอมความจึงตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าคำพิพากษาตามยอมของศาลแรงงานกลางในคดีดำที่ 658/2532 ระหว่างนายศิริชัย บูลกุล โจทก์ที่ 364 กับจำเลยขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างนายศิริชัยบูลกุล โจทก์ที่ 364 กับจำเลยเกิดขึ้นเพราะกลฉ้อฉลด้วยการแสดงเจตนาลวงหรือไม่ คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์อื่น (นอกจากนายศิริชัย บูลกุล โจทก์ที่ 364) กับจำเลยได้ทำขึ้นด้วยกลฉ้อฉลโดยการแสดงเจตนาลวงหรือไม่ ประเด็นนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่10 มกราคม 2532 นางชนัตถ์ ปิยะอุย ในฐานะผู้ถือหุ้นร้อยละ 43.46ของหุ้นทั้งหมดของจำเลยได้มีหนังสือเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลย โดยกำหนดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 19 มกราคม 2532เวลา 10 นาฬิกา แต่เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2532 โจทก์ทั้ง 366 คนได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม2532 ผู้แทนโจทก์กับทนายจำเลยซึ่งแต่งตั้งโดยนายศิริชัย บูลกุล และประทับตราสำคัญของจำเลยได้ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลแรงงานกลางได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ แล้วพิพากษาตามยอมในวันเดียวกันวันที่ 19 มกราคม 2532 ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลย ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอนกรรมการชุดเดิมและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมานั้นไม่ปรากฏว่า โจทก์อื่นได้สมคบกับนายศิริชัยบูลกุล แสดงเจตนาลวงหรือทำกลฉ้อฉลจำเลยแต่อย่างใด พฤติการณ์ที่นายศิริชัย บูลกุล รีบด่วนทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์อื่นนั้น แสดงว่าเป็นการแย่งชิงอำนาจบริหารกันระหว่างนายศิริชัยบูลกุล กรรมการเดิมกับนางชนัตถ์ ปิยะอุย กับพวก และการที่นายศิริชัยบูลกุล ยินยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระเงินค่าจ้างและดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์อื่นทั้งหมดหลังจากมีการฟ้องคดีเพียงสองวันก้เป็นเรื่องปกติธรรมดาของนายจ้างที่จะต้องชำระค่าจ้างค้างแก่ลูกจ้างโดยเร็วเพื่อให้ลูกจ้างมีเงินไปใช้จ่ายในการดำรงชีพได้ไม่ถือว่าเป็นการพิรุธแต่อย่างใดพฤติการณ์เพียงแค่นี้ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการสมคบกันฉ้อฉลด้วการแสดงเจตนาลวงดังที่จำเลยยกเป็นเหตุกล่าวอ้างในอุทธรณ์ ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ว่าจำเลยไม่ได้ค้างชำระค่าจ้างแก่โจทก์นั้น เห็นว่า คณะกรรมการชุดใหม่ของจำเลยได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2532 นับถึงวันไต่สวนพยานจำเลยเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2532 เป็นเวลา 4 เดือนเศษ กรรมการชุดใหม่ของจำเลยมีเวลาเพียงพอที่จะหาพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลว่า ได้มีการชำระค่าจ้างแก่โจทก์อื่นโดยไม่ได้ค้างชำระเลย แต่นายวีระวงค์จิตต์มิตรภาพ กรรมการจำเลยมาเบิกความเป็นพยานจำเลยในชั้นไต่สวนคงเบิกความลอย ๆ ว่ามีการชำระค่าจ้างแก่โจทก์ทุกคนแล้วหาได้มีหลักฐานการจ่ายค่าจ้างมาแสดงไม่ตามทางไต่สวนจำเลยจึงไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้ได้ความตามที่กล่าวอ้าง นอกจากนี้ศาลแรงงานกลางยังรับฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า เมื่อพ.ศ. 2531 จำเลยถูกบริษัทธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ฟ้องต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่2151/2531 และวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2531 ศาลแพ่งมีคำสั่งห้ามจำเลยกระทำการหลายประการรวมทั้งให้จำเลยนำรายได้ทั้งหมดมาเก็บรักษาไว้ที่ศาลแพ่งทุกเดือนเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2531 ศาลแพ่งอนุญาตให้จำเลยเบิกเงินจำนวน 3,300,000 บาท ไปใช้จ่ายเป็นค่าจ้างแก่พนักงานของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.1 และจำเลยได้นำเงินดังกล่าวจ่ายเป็นค่าจ้างให้พนักงานประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2531 วันที่ 7มิถุนายน 2531 จำเลยยื่นคำแถลงต่อศาลแพ่งในคดีเดิมอีกว่า ได้ติดค้างค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำประปาและค่าจ้างพนักงานจำนวนหนึ่งซึ่งบริษัทธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ยินยอมให้จำเลยเบิกจ่ายไปจ่ายได้ ยกเว้นค่าจ้างพนักงานจะต้องขอตรวจสอบรายละเอียด ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ตามเอกสารดังกล่าว เป็นรายงานกระบวนพิจารณาในคดีหมายเลขดำที่ 2151/2531 ของศาลแพ่ง ซึ่งปรากฏว่าศาลแพ่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้เบิกเงินจากบัญชีเงินฝากที่ธนาคารทหารไทย จำกัด สาขามาบุญครองเซ็นเตอร์ ตามที่ศาลมีคำสั่งห้ามไว้นั้นไปจ่ายเป็นค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ส่วนคำสั่งอื่นยังคงให้เป็นไปตามเดิม จึงฟังได้ว่า ศาลแพ่งยังไม่มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเบิกเงินมาจ่ายค่าจ้างแก่พนักงานของจำเลยอีก ลูกจ้างของจำเลยทั้งหมดจึงคงได้รับค่าจ้างครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์2531 เท่านั้น หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าศาลแพ่งได้อนุญาตให้จำเลยเบิกเงินไปจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างของจำเลยอีกต่อไป จำเลยจึงได้ค้างชำระค่าจ้างแก่ลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2531 เป็นต้นมาโจทก์อื่นทุกคนฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจากจำเลยนับแต่วันที่ 15 มีนาคม2531 จนถึงวันฟ้องงวดประจำวันที่ 15 มกราคม 2532 จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าจ้างค้างที่จำเลยได้ค้างชำระแก่โจทก์อื่นทุกคนจริงตามจำนวนที่ถูกต้องสอดคล้องกับพยานหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2 การที่นายศิริชัย บูลกุล ในฐานะผู้จัดการของจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความยินยอมชำระค่าจ้างค้าชำระและดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์อื่นทุกคน จึงเป็นการถูกต้องและชอบธรรมแล้วไม่ใช่เป็นกลฉ้อฉลด้วยการสมคบกันแสดงเจตนาลวงตามที่จำเลยกล่าวอ้าง…”
พิพากษายกคำพิพากษาตามยอมของศาลแรงงานกลาง เฉพาะคดีหมายเลขดำที่ 658/2532 ระหว่างนายศิริชัย บูลกุล โจทก์ที่ 364 กับจำเลยให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่เกี่ยวกับโจทก์สำนวนอื่นพิพากษายืน.

Share