แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ศาลแรงงานกลางอาศัยบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 20 นำระยะเวลาตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยและโจทก์แต่ละฉบับมานับรวมกันเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สัญญาจ้างระหว่างจำเลยและโจทก์ จำเลยมีเจตนาที่จะจ้างโจทก์ทำงานให้จำเลยตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 ติดต่อกันไปแต่มีการแบ่งเป็นสัญญาช่วงสั้น ๆ หลายช่วง มีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่องกันไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานติดต่อกัน โดยจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงเข้ากรณีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 20 ให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ย่อยาว
คดีสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีหมายเลขดำที่ 14539/2542, 14540/2542 และ 16869 ถึง 16872/2542 ของศาลแรงงานกลาง โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7 แต่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ถอนฟ้องไปแล้ว และคดีสำหรับโจทก์ที่ 4 ยุติโดยศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง คู่ความไม่อุทธรณ์ จึงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 7 เป็นเงิน 66,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อไป นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 7 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,500 บาท จำเลยจ้างโจทก์ที่ 7 เข้าทำงานเป็นระยะเวลาติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 โดยให้โจทก์ที่ 7 ไปทำงานในโครงการที่จำเลยทำไว้กับบริษัทผู้ว่าจ้างเริ่มตั้งแต่โครงการไทยคาโปแล็คตั้ม ดี 056 โครงการทาสโกอาร์ซีเอดี 080 และโครงการไทยเอ็มเอ็ม เอ ดี 090 จำเลยหักเงินภาษีและเงินสะสมที่โจทก์ที่ 7 ทำงานกับจำเลยไว้ และจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ที่ 7 มาโดยตลอด แสดงว่ามีเจตนาที่จะว่าจ้างการทำงานกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปี 2542 ไม่มีเจตนาให้โจทก์ที่ 7 ออกจากงานอย่างจริงจัง ยังคงให้มีการทำงานกันต่อไป เป็นการทำสัญญาในลักษณะที่จะหลีกเลี่ยงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 เพื่อจำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 7 เมื่อออกจากงาน จึงต้องถือว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ที่ 7 ติดต่อกันมาตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 เป็นการทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่เกิน 6 ปี (ที่ถูกไม่ครบ 6 ปี) จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน คิดเป็นเงิน 51,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป โดยถือว่าเป็นการผิดนัดไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 7 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ที่ 7 จำนวน 51,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า… การที่ศาลแรงงานกลางอาศัยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 20 นำเอาระยะเวลาตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยและโจทก์ที่ 7 แต่ละฉบับมานับรวมกันเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยเป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สัญญาจ้างระหว่างจำเลยและโจทก์ที่ 7 จำเลยมีเจตนาที่จะจ้างโจทก์ที่ 7 ทำงานให้จำเลยตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 ติดต่อกันไป แต่มีการแบ่งเป็นสัญญาช่วงสั้น ๆ หลายช่วง โดยมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่องกันไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 7 ไม่ได้ทำงานติดต่อกัน โดยจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ที่ 7 ซึ่งเป็นลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงเข้ากรณีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 20 ที่ให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงชอบด้วยแล้ว
ที่จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไม่ตรงตามประเด็นข้อพิพาทและไม่ได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย จึงเป็นคำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ประเด็นข้อพิพาทมีว่า โจทก์ที่ 7 มีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือไม่ เพียงใด และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ 7 ซึ่งทำกันไว้เป็นช่วง ๆ หลายสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 ต่อเนื่องกันตลอดมาว่าแม้จำเลยจะนำสืบว่าการจ้างในแต่ละช่วงสัญญาเป็นการจ้างโจทก์ที่ 7 เป็นครั้งคราวก็ดี ในบางครั้งโจทก์ที่ 7 ทำหนังสือลาออกในโครงการที่เสร็จสิ้นไปก็ดี แต่ก็เห็นได้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะให้โจทก์ที่ 7 ลาออกจากงานอย่างจริงจัง คงให้มีการทำงานกันต่อไป เป็นการทำสัญญาในลักษณะที่จะหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างโจทก์ที่ 7 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 โจทก์ที่ 7 ทำงานติดต่อกันครบสามปีแต่ไม่ครบหกปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ดังนี้ ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาท และได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 และมาตรา 52 โดยชอบแล้ว
พิพากษายืน.