คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 446/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องที่1ถึงที่3ในฐานะผู้จัดการมรดกของก.ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งห้าโดยไม่แบ่งให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโจทก์ได้ฟ้องผู้ร้องที่1ถึงที่3ให้แบ่งทรัพย์มรดกแก่โจทก์ตามส่วนในคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ร้องที่1ถึงที่3ดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์ชอบที่จะขอให้แบ่งปันทรัพย์มรดกใหม่ได้ผู้ร้องที่1ถึงที่3ในฐานะผู้จัดการมรดกยังมีหน้าที่ที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่โจทก์ตามส่วนโดยผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวย่อมมีความหมายว่าแม้จะมีการโอนที่ดินพิพาทใส่ชื่อผู้ร้องทั้งห้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้ร้องทั้งห้าจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและการจัดการทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบนั้นย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่สิ้นสุดลงที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของก.ยังคงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกก.ผู้ตายและยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดกทั้งโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอแบ่งปันทรัพย์มรดกใหม่ได้โดยไม่จำต้องฟ้องเพิกถอนการโอนดังกล่าว ผู้ร้องที่1ถึงที่3ในฐานะผู้จัดการมรดกของก.ได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งห้าเมื่อวันที่11สิงหาคม2518ต่อมาเมื่อวันที่14ตุลาคม2524โจทก์ได้ฟ้องคดีเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกกรณีถือได้ว่าการครอบครองที่ดินพิพาทในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนจะครอบครองช้านานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ที่ผู้ร้องทั้งห้าฎีกาว่าในคดีที่โจทก์ฟ้องคดีขอแบ่งทรัพย์มรดกนั้นโจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้ร้องที่1ถึงที่3ในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้ร้องที่4ที่5เป็นจำเลยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันผู้ร้องทั้งห้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้นเป็นข้อที่ผู้ร้องมิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยศาลฎีกาพิพากษาให้นายสมเกียรติ ฉันทวานิช นายองอาจ ฉันทวานิชและนายสมชาย ฉันทวานิช ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกตุ ฉันทวานิชจำเลยแบ่งทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องให้แก่โจทก์หนึ่งในสิบห้าส่วน และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 40,000 บาท แต่ผู้จัดการมรดกของนายเกตุไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่อ้างว่าเป็นทรัพย์ในกองมรดกนายเกตุ คือที่ดินโฉนดเลขที่ 1676 แขวงจักรวรรดิ์ เขตสามเพ็ง กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินเพื่อบังคับตามคำพิพากษา
ผู้ร้องทั้งห้ายื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่ยึดไม่ใช่ทรัพย์ในกองมรดกของนายเกตุ เพราะได้มีการแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาทคือผู้ร้องทั้งห้าเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518ทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ร้องทั้งห้าผู้ร้องทั้งห้าได้ครอบครองด้วยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายโจทก์จึงไม่มีสิทธิยึดทรัพย์ดังกล่าว ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์คัดค้านว่า การที่ผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยใส่ชื่อตนและผู้ร้องที่ 4 กับที่ 5 เป็นการกระทำที่ฉ้อฉลโจทก์เพราะได้กระทำในระหว่างเวลาที่โจทก์กับผู้ร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3กำลังมีข้อพิพาทในการจัดการมรดก หลังจากข้อพิพาทดังกล่าวเสร็จสิ้น เมื่อปี 2521 ก็มีข้อพิพาทเรื่องทรัพย์มรดกกันอีกผู้ร้องทั้งห้าจะอ้างการแบ่งทรัพย์มรดกมายันโจทก์ไม่ได้ เพราะโจทก์มีสิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวหนึ่งในสิบห้าส่วน แต่ยังไม่ได้รับส่วนแบ่ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้น มี คำสั่ง ยกคำร้อง ของ ผู้ร้อง ทั้ง ห้า
ผู้ร้อง ทั้ง ห้า อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้ร้อง ทั้ง ห้า ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่าผู้ร้องทั้งห้าเป็นบุตรของนายเกตุ ฉันทวานิช เมื่อนายเกตุตายผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้กับผู้ร้องทั้งห้า จะได้วินิจฉัยฎีกาผู้ร้องทั้งห้าโดยลำดับ
ผู้ร้องทั้งห้าฎีกาในประการแรกว่า ผู้ร้องทั้งห้าได้รับโอนที่ดินพิพาทจากผู้จัดการมรดกของนายเกตุในฐานะทายาทโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ก็มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างผู้จัดการมรดกของนายเกตุกับผู้ร้องทั้งห้าถือได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ร้องทั้งห้า มิใช่ทรัพย์สินของกองมรดกนายเกตุอีกต่อไป เห็นว่า เมื่อผู้ร้องที่ 1ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกตุได้ทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งห้าโดยไม่แบ่งให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโจทก์ได้ฟ้องผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ให้ทำการแบ่งทรัพย์มรดกตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องแก่โจทก์ตามส่วน ในคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า การแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ร้องที่ 1ถึงที่ 3 ดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ชอบที่จะขอให้แบ่งปันทรัพย์มรดกใหม่ได้ ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกยังมีหน้าที่ที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่โจทก์ตามส่วนโดยผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถึงที่สุดไปในคดีดังกล่าวย่อมมีความหมายว่า แม้จะมีการโอนที่ดินพิพาทใส่ชื่อผู้ร้องทั้งห้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้ร้องทั้งห้าจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและการจัดการทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบนั้น ย่อมทำให้การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่ถึงที่สุดลง ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนายเกตุยังคงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกนายเกตุผู้ตายและยังคงอยู่ในระหว่างการจัดการแบ่งทรัพย์มรดก ทั้งโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะขอแบ่งปันทรัพย์มรดกใหม่ได้ โดยไม่จำต้องฟ้องเพิกถอนการโอนดังกล่าว
ผู้ร้องทั้งห้าฎีกาในประการต่อมาว่า ผู้ร้องทั้งห้าได้รับโอนที่ดินพิพาทมาตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2518 แต่ศาลฎีกาพิพากษาให้ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์หนึ่งในสิบห้าส่วน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 นั้น เป็นเวลาเกินกว่า10 ปี นับแต่ผู้ร้องได้เข้าครอบครองด้วยความสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ผู้ร้องทั้งห้าจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแล้ว เห็นว่าผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกตุได้ทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องทั้งห้าเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2524 โจทก์ได้ฟ้องคดีเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก กรณีถือได้ว่าการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งห้าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทในระหว่างการพิจารณาคดีไม่ถือว่าเป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนจะครอบครองช้านานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง
ส่วนที่ผู้ร้องทั้งห้าฎีกาว่า ในคดีที่โจทก์ฟ้องคดีขอแบ่งทรัพย์มรดกนั้น โจทก์ไม่ได้ฟ้องผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดก และผู้ร้องที่ 4 ที่ 5 เป็นจำเลย ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันผู้ร้องทั้งห้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้น เห็นว่า เป็นข้อที่ผู้ร้องมิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share