คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1433/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง กำหนดแจ้งชัดว่า หนี้ที่จะขอรับชำระได้ต้องเป็นหนี้ที่มีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เท่านั้น แม้ว่าหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้หรือเป็นหนี้ที่ยังมีเงื่อนไขในการชำระหนี้ก็ตาม แต่จำนวนเงินค่าขึ้นศาลที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เป็นค่าธรรมเนียมศาลซึ่งเจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องชำระแก่ศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 เพื่อเจ้าหนี้จะได้ใช้สิทธิดำเนินคดีทางแพ่งต่อลูกหนี้ตามกฎหมายเท่านั้น และเงินจำนวนนี้ไม่ใช่ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระแก่เจ้าหน้าที่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 แล้ว จึงมิใช่มูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อันเจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2544 และตั้งบริษัทเชอร์ชิลล์ไพรซ์ แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน ต่อมาศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนโดยมีผู้ทำแผนเป็นผู้บริหารแผน
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในมูลหนี้ตามบันทึกข้อตกลงในการแปลงหนี้ใหม่จำนวน 291,960,924.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 145,901,673.07 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/29 แล้ว ผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ว่า เจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยสูงกว่าสิทธิที่เจ้าหนี้จะเรียกร้องได้ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าธรรมเนียมศาลเพราะศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ต้องรับผิด
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นเงิน 291,261,300.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 145,901,673.07 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จจากลูกหนี้ โดยให้ได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน ในวงเงินตามสัญญาจำนำหุ้น ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 และหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน ลงวันที่ 7 มีนาคม 2540 และหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากนางประภา วิริยะประไพกิจ นายวิทย์ วิริยะประไพกิจ หรือนายอีริค ไล ผู้ค้ำประกันแล้วเพียงใด ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ยกคำขอรับชำระหนี้ในเรื่องดอกเบี้ยบางส่วนไม่ถูกต้อง ตามบันทึกข้อตกลงในการแปลงหนี้ใหม่ข้อ 2.2 ได้กำหนดเกี่ยวกับเรื่องการชำระดอกเบี้ยไว้โดยกำหนดชำระดอกเบี้ยทุกวันสุดท้ายของแต่ละเดือนของแต่ละช่วงระยะเวลาดอกเบี้ย ส่วนการคำนวณดอกเบี้ยจะคำนวณดอกเบี้ยเป็นรายวันตามวันที่ผ่านพ้นไปจริง หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระเงินใด ๆ เมื่อถึงกำหนดชำระให้แก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดให้แก่เจ้าหนี้นับจากวันที่ผิดนัดจนถึงวันชำระเสร็จ วันที่ผิดนัดหมายถึงวันที่ลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยเป็นต้นไป (วันถัดจากวันชำระดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย) มิใช่หมายถึงวันถัดจากวันที่ถึงกำหนดชำระดอกเบี้ยในแต่ละงวดแล้วลูกหนี้ไม่ชำระ วันถึงกำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นเพียงวันที่กำหนดให้ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยในงวดนั้น ๆ เท่านั้น เพราะดอกเบี้ยจะคำนวณเป็นรายวัน มิใช่เป็นรายเดือน หากลูกหนี้ไม่ชำระดอกเบี้ยเมื่อถึงวันที่กำหนดให้ชำระดอกเบี้ย จึงถือได้ว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ค้างชำระดอกเบี้ยเป็นต้นไป ซึ่งลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 และมีกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยงวดเดือนกุมภาพันธ์ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อถึงวันที่กำหนดให้ชำระดอกเบี้ยดังกล่าว ลูกหนี้ไม่ชำระจึงถือได้ว่าลูกหนี้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 มิใช่วันที่ 1 มีนาคม 2540 ดังที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็น เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดได้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไป และที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ในส่วนค่าธรรมเนียมศาลนั้นไม่ถูกต้องเพราะพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้” ดังนั้น หนี้ค่าธรรมเนียมศาลในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 9385/2541 จำนวน 200,000 บาท ที่เจ้าหนี้ชำระต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการที่เจ้าหนี้จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ เพราะหากเจ้าหนี้ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย และในภายหลังศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระค่าธรรมเนียมศาลแทนเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้ค่าธรรมเนียมศาลจากลูกหนี้ได้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงทำบันทึกข้อตกลงในการแปลงหนี้ใหม่ ฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 โดยมีต้นเงินที่ต้องชำระทั้งสิ้น 150,000,000 บาท และต้องชำระดอกเบี้ยในอัตรา MOR + 2% ต่อปี ซึ่ง ณ วันที่ทำบันทึกข้อตกลงอัตราดอกเบี้ย MOR = 13.917% ต่อปี และกำหนดชำระดอกเบี้ยในวันสุดท้ายของแต่ละเดือนปฏิทิน หากผิดนัดให้ใช้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดโดยคำนวณนับแต่วันเกิดเหตุผิดนัด ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 ลูกหนี้ชำระเงินต้นคืนเจ้าหนี้จำนวน 4,098,326.93 บาท คงเหลือต้นเงินค้างชำระ 145,901,673.07 บาท เมื่อถึงกำหนดชำระดอกเบี้ยครั้งแรก คือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยเมื่อระยะเวลาให้ชำระดอกเบี้ยได้กำหนดไว้แน่นอน คือ วันสุดท้ายของแต่ละเดือนปฏิทิน ฉะนั้น ดอกเบี้ยของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 จึงถึงกำหนดชำระในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระตามกำหนดจึงถือว่าลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ชอบที่จะคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันถัดจากวันที่ผิดนัด คือ วันที่ 1 มีนาคม 2540 ส่วนดอกเบี้ยของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 ลูกหนี้ยังไม่ผิดนัดแต่อย่างใดเจ้าหนี้จึงคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราปกติตามที่ตกลงกันในบันทึกข้อตกลงเท่านั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยผิดนัด เจ้าหนี้มีหลักฐานยืนยันว่ามีสิทธิคิดได้ในอัตราร้อยละ 21, 24, 28 และ 18 ต่อปี ประกอบกับผู้ทำแผนไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงรับฟังได้ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ในอัตราดังกล่าว เจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.917 ต่อปี ของต้นเงิน 150,000,000 บาท นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นดอกเบี้ย 1,373,658.90 บาท อัตราร้อยละ 15.917 ต่อปี ของต้นเงิน 145,901,673.07 บาท นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นดอกเบี้ย 190,875.36 บาท อัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 145,901,673.07 บาท นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2540 ถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2540 เป็นดอกเบี้ย 12,507,570.82 บาท อัตราร้อยละ 24 ต่อปี ของต้นเงิน 145,901,673.07 บาท นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นดอกเบี้ย 20,434,228.84 บาท อัตราร้อยละ 28 ต่อปี ของต้นเงิน 145,901,673.07 บาท นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นดอกเบี้ย 40,628,619.32 บาท อัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 145,901,673.07 บาท นับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2542 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2544 เป็นดอกเบี้ย 70,224,673.76 บาท รวมเป็นดอกเบี้ยทั้งสิ้น 145,359,627 บาท ส่วนในประเด็นค่าธรรมเนียมศาลจำนวน 200,000 บาท ที่เจ้าหนี้ได้ชำระเมื่อยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในคดีหมายเลขดำที่ 9385/2542 ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวโดยยังมิได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระค่าธรรมเนียมศาลแทนเจ้าหนี้ มูลแห่งหนี้ในค่าธรรมเนียมศาลจึงยังไม่เกิดแก่ลูกหนี้ ลูกหนี้ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมศาลจำนวน 200,000 บาท แก่เจ้าหนี้
ศาลล้มละลายกลางกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องแล้ว เมื่อถึงวันนัดคู่ความแถลงร่วมกันว่าไม่ประสงค์สืบพยานโดยต่างยอมรับข้อเท็จจริงตามเอกสารท้ายคำร้องคัดค้านและคำคัดค้านกับที่ปรากฏในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ประการแรกว่า เจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามมูลหนี้บันทึกข้อตกลงในการแปลงหนี้ใหม่ในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 หรือไม่ เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า ตามบันทึกข้อตกลงในการแปลงหนี้ใหม่ข้อ 2.2 การคำนวณดอกเบี้ยจะคำนวณดอกเบี้ยเป็นรายวันตามวันที่ผ่านพ้นไปจริง หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระเงินใด ๆ เมื่อถึงกำหนดชำระให้แก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดให้แก่เจ้าหนี้นับจากวันที่ผิดนัดจนถึงวันชำระเสร็จ วันที่ผิดนัดหมายถึงวันที่ลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยเป็นต้นไป ไม่ใช่วันที่ถึงกำหนดชำระดอกเบี้ยในแต่ละงวด เพราะดอกเบี้ยจะคำนวณเป็นรายวันมิใช่เป็นรายเดือน ศาลฎีกาตรวจดูสำเนาบันทึกข้อตกลงในการแปลงหนี้ใหม่ ฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 เอกสารท้ายคำขอรับชำระหนี้หมายเลข 9 ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยตามข้อ 2.2 และ 2.3 ระบุแต่เพียงว่าลูกหนี้ตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้แต่ละรายในวันสุดท้ายของแต่ละเดือนปฏิทินหรือวันทำการวันสุดท้ายของเจ้าหนี้ก่อนหน้าวันสุดท้ายของเดือนปฏิทินนั้นหากวันสิ้นเดือนปฏิทินตรงกับวันที่มิใช่วันทำการของเจ้าหนี้และอัตราดอกเบี้ยผิดนัดให้เริ่มคิดคำนวณนับแต่วันที่ที่เกิดเหตุผิดนัดจนถึงวันที่ที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เท่านั้น หาได้มีระบุข้อความดังที่เจ้าหนี้กล่าวอ้างในคำฟ้องอุทธรณ์ไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่เจ้าหนี้ยอมรับว่าลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นไป และถึงกำหนดชำระดอกเบี้ยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระดอกเบี้ยในวันที่ถึงกำหนดชำระดังกล่าว ลูกหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดได้นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป หาใช่ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 ดังที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ประการสุดท้ายว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าธรรมเนียมศาลเป็นค่าขึ้นศาลจำนวน 200,000 บาท หรือไม่ เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า แม้ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาให้ผู้ใดต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมศาลก็ตาม หากเจ้าหนี้ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าธรรมเนียมศาลภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายไว้และในภายหลังศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระค่าธรรมเนียมศาลแทนเจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่อาจขอรับชำระหนี้ค่าธรรมเนียมศาลจากลูกหนี้ได้อีก เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ได้บัญญัติเกี่ยวกับหนี้ที่จะขอรับชำระได้ไว้ในมาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง ว่า “เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีหรือหนี้ที่จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้” ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดแจ้งชัดว่าหนี้ที่จะขอรับชำระได้ต้องเป็นหนี้ที่มีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เท่านั้น แม้ว่าหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้หรือเป็นหนี้ที่ยังมีเงื่อนไขในการชำระหนี้ก็ตาม เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ แต่จำนวนเงินค่าขึ้นศาลที่เจ้าหนี้ขอรับชำระมานี้เป็นค่าธรรมเนียมศาลซึ่งเจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องชำระแก่ศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 เพื่อเจ้าหนี้จะได้ใช้สิทธิดำเนินคดีทางแพ่งต่อลูกหนี้ตามกฎหมายเท่านั้น และเงินจำนวนนี้มิใช่ค่าธรรมเนียมที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระแก่เจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 แล้ว จึงมิใช่มูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้อันเจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ได้ ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ยกคำรับชำระหนี้ส่วนนี้ของเจ้าหนี้และที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share