แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ควบคุมสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2481 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการทำบันทึกข้อตกลงเมื่อปี 2495 ตาม พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ได้ให้ความหมายของคำว่า สุสาน ตรงกัน คือ สุสาน มี 2 ประเภท ได้แก่ สุสานและฌาปนสถานสาธารณะ หมายความว่า ที่ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเผา ฝัง หรือเก็บศพสำหรับประชาชนทั่วไป กับ สุสานและฌาปนสถานเอกชน หมายความว่า ที่ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเผา ฝัง หรือเก็บศพของตระกูลหรือครอบครัวหรือมิตรของตระกูลหรือครอบครัว เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติดังกล่าวแล้วว่า ที่ดินบริเวณที่เป็นสุสานดังกล่าว เป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และตามบันทึกที่พระโบราณคณิสสร เจ้าอาวาสของโจทก์ ทำเมื่อปี 2495 ร่วมกันกับกรรมการวัดทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ก็มีข้อความว่า โจทก์ โดยพระโบราณคณิสสร เจ้าอาวาส พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ได้ประชุมหารือกันว่า สุสานของโจทก์อันเป็นที่บำเพ็ญการกุศลตามประเพณี โกดังเก็บศพตลอดจน ฌาปนสถานอันเป็นที่เผาศพยังไม่มิดชิดและมั่นคงถาวร และขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่สวยงามสมควรจัดการก่อสร้างเสียใหม่ให้ถาวรและเรียบร้อยเพื่อจะได้เป็นการสะดวกแก่การบำเพ็ญกุศลของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งนับว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ประการหนึ่ง หลังจากนั้นต่อเนื่องมาจนถึงจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2501 เพื่อบริหารดูแลสุสาน ในตราสารก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการดูแลสุสานสาธารณะ และที่ประตูทางเข้าสุสานมีป้ายบอกชัดเจนว่าเป็นสุสานสาธารณะ ข้อเท็จจริงดังกล่าวรับฟังได้ชัดเจนว่าสุสานตามฟ้อง เป็นสุสานประเภทสุสานสาธารณะตามความหมายของ พ.ร.บ.ควบคุมสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2481 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการทำบันทึกข้อตกลงเมื่อปี 2495 และตาม พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์จะได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งสุสานให้มีใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หาใช่จะทำให้สุสานที่โดยสภาพและเจตนารมณ์เป็นสุสานสาธารณะกลายเป็นไม่ใช่สุสานสาธารณะหรือสุสานเอกชน หรือไม่ใช่สุสานไปเลย แต่อย่างใดไม่ แต่การเป็นสุสานสาธารณะ ซึ่งมีความหมายชัดเจนแล้วตามกฎหมายดังกล่าว คือเป็นสถานที่ที่ใช้เป็นที่ฝัง เผา หรือเก็บศพสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่ได้หมายความไปถึงว่าที่ดินที่เป็นที่ตั้งของสุสานนั้นจะตกเป็นที่ดินสาธารณะไปด้วย ที่ดินใดจะเป็นที่ดินสาธารณะหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุตามกฎหมายแห่งการตกเป็นที่สาธารณะของที่ดินแปลงนั้นๆ เป็นกรณีๆ ไป สำหรับที่ดินแปลงที่เป็นที่ตั้งสุสานสาธารณะในคดีนี้นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่บ่งชี้ว่าโจทก์ได้เคยแสดงเจตนายกที่ดินดังกล่าวให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หลังจากทำบันทึกในปี 2495 ซึ่งระบุว่าโจทก์อนุญาตให้ใช้ที่ดินโจทก์ทำสุสานสาธารณะแล้ว ต่อมาปี 2501 โจทก์ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินในฐานะผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินในส่วนที่มีสุสานดังกล่าวรวมอยู่ด้วย และทำให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแปลงนั้น ต่อมาโจทก์ดำเนินการให้มีการจัดตั้งจำเลยที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือมาบริหารจัดการดูแลสุสานในนามโจทก์ และจำเลยที่ 1 เก็บเงินจากผู้ที่ประสงค์จะนำศพมาฝังในสุสานเป็นค่าบำรุงและระบุไว้ในตราสารการจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 ว่า หากยกเลิกจำเลยที่ 1 ไป ให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยให้ใช้เป็นสุสานสาธารณะยังคงหวงสิทธิในที่ดินดังกล่าวอยู่ และไม่ได้แสดงเจตนายกที่ดินที่เป็นที่ตั้งสุสานดังกล่าวให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวอยู่ต่อไป ส่วนโจทก์จะถูกรอนสิทธิหรือถูกจำกัดสิทธิในการใช้ที่ดินดังกล่าวในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างไรหรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ หรือเป็นกรณีไป เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าสุสานดังกล่าวเป็นสุสานของโจทก์ และเป็นสุสานประเภทสุสานสาธารณะ กรณีของที่ฝังศพ (ฮ้วงซุ้ย) แต่ละราย ที่ทายาทหรือบุคคลใดที่นำศพมาฝังไว้ในสุสานดังกล่าวโดยความยินยอมของโจทก์ จึงเป็นสัญญาหรือนิติสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสุสาน ไม่ว่าจะมีจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจัดการให้หรือไม่ก็ตาม กับทายาทหรือบุคคลที่มาติดต่อเพื่อขอนำศพมาฝังไว้ในสุสาน ว่ามีอยู่ต่อกันอย่างไร ตามหลักแห่งสัญญาตามกฎหมายทั่วไป หากโจทก์ประสงค์จะให้มีการรื้อที่ฝังศพรายใดรายหนึ่งหรือหลายรายหรือทั้งหมดออกไปหรือแม้แต่ยกเลิกการจัดตั้งสุสาน โจทก์ก็จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามสัญญาตามนิติสัมพันธ์ที่มีอยู่ต่อกัน และถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยสุสานหรือ พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 ด้วย เช่น ต้องแจ้งบอกกล่าวไปถึงทายาทหรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้นำศพมาฝังไว้ในสุสานดังกล่าวว่ามีข้อโต้แย้งคัดค้านอย่างไรหรือไม่ และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้พิจารณามีคำสั่งเสียก่อน เป็นต้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินตามสัญญาและตามกฎหมายว่าด้วยสุสานดังกล่าว และโจทก์ไม่ได้ฟ้องทายาทหรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้นำศพมาฝังไว้ในสุสานซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับโจทก์ให้รื้อย้ายที่ฝังศพออกไป แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์ยืนยันว่าเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์และมีคำขอ ให้จำเลยทั้งสองรื้อย้ายที่ฝังศพทั้งหมดในสุสานดังกล่าวออกไปเป็นคดีนี้ จึงเป็นคำฟ้องและคำขอที่ไม่อาจบังคับจำเลยทั้งสองให้กระทำการเช่นนั้นได้ คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอให้รื้อย้ายที่ฝังศพทั้งหมดในสุสานดังกล่าวออกไป จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ ถึงแม้ต่อมา ผู้ร้องสอดในคดีนี้ จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความด้วยก็ตาม ก็ไม่อาจจะทำให้คำฟ้องส่วนที่ไม่ชอบของโจทก์ดังกล่าวกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบขึ้นมาได้
ทั้ง ชื่อ วัตถุประสงค์ และสถานที่ตั้งทำการ ที่ปรากฏในตราสารการขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ที่ดำเนินการดูแลสุสานของโจทก์ตลอดมา เป็นที่ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินการดูแลสุสานในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ ข้อเท็จจริงนี้ จำเลยทั้งสองก็ให้การเป็นไปในทำนองรับ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของโจทก์ในการดูแลสุสานของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำการไปในทางที่ขัดต่อความประสงค์ของโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เช่น การที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเปลี่ยนแปลงตราสารของมูลนิธิเป็นว่า ให้สถานที่ตั้งมูลนิธิอยู่ที่ตั้งของวัดโจทก์ตามที่เคยเป็นมาแต่เดิม และให้คณะกรรมการบริหารมูลนิธิจำเลยที่ 1 ต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือฝ่ายโจทก์ ฝ่ายพ่อค้า และฝ่ายข้าราชการประจำหรือข้าราชการบำนาญ และให้กรณีเลิกมูลนิธิทรัพย์สินของมูลนิธิต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่เคยเป็นในตราสารมาแต่เดิม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่โจทก์ในฐานะตัวการจะปฏิเสธไม่ให้จำเลยที่ 1 กระทำการใดในฐานะเป็นตัวแทนโจทก์เกี่ยวกับการดูแลสุสานของโจทก์อีก เมื่อโจทก์บอกกล่าวแจ้งยกเลิกการอนุญาตให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนของโจทก์ทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคาร สิ่งปลูกสร้าง (ฮวงซุ้ย) ศพ และขนย้ายทรัพย์สินอื่น ๆ ออกจากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 9149 เลขที่ดิน 126 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องและรบกวนสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์อีกต่อไป กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 16,260 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไปและจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้าง ศพ และขนย้ายทรัพย์สินอื่นๆ ออกไปจากที่ดินของโจทก์จนเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การ ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การและแก้ไขฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและพิพากษาให้โจทก์จดทะเบียนทรัพยสิทธิหรือภาระสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 9149 เลขที่ดิน 126 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ 14 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยสองยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียและถูกโต้แย้งสิทธิจึงเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตน จึงร้องสอดเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยสองเข้าเป็นจำเลยร่วม โดยให้เรียกผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยสองว่า จำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 102 ตามลำดับ
ผู้ร้องสอดทั้งหนึ่งร้อยสองยื่นคำร้องขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 9149 เลขที่ดิน 126 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ 14 ไร่ ตามบันทึกของโจทก์ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2495 เฉพาะส่วนที่เป็นสุสานสาธารณะเป็นสาธารณสมบัติที่ประชาชนใช้ร่วมกันประเภทสุสานสาธารณะ ห้ามไม่ให้โจทก์ดำเนินการโครงการพัฒนาที่ดินและโครงการใดๆ อันขัดกับวัตถุประสงค์ของการให้ที่ดินเพื่อเป็นสุสานสาธารณะ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองขอให้ยกฟ้องแย้ง
โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งหนึ่งร้อยสองขอให้ยกคำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างเฉพาะอาคารที่ทำการหรืออาคารที่พักคนงานของจำเลยที่ 1 และขนย้ายทรัพย์สินอื่นๆ ของจำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 9149 เลขที่ดิน 126 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องและรบกวนสิทธิที่ดินของโจทก์อีกต่อไป กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 400 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 20 สิงหาคม 2557) จนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินอื่น ๆ ออกไปจากที่ดินของโจทก์ คำขออื่นของโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองนอกจากนี้ให้ยก ห้ามโจทก์ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับฮวงซุ้ยและศพดังกล่าวอันเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของผู้ร้องสอดทั้งหนึ่งร้อยสอง คำขออื่นของผู้ร้องสอดทั้งหนึ่งร้อยสองนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ จำเลยทั้งสองและผู้ร้องสอดทั้งหนึ่งร้อยสองให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องสอดทั้งหนึ่งร้อยสองเข้าเป็นคู่ความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ขณะยื่นฟ้องคดีนี้มีพระเทพรัตนากร เป็นเจ้าอาวาส โจทก์มอบอำนาจให้พระเมธีวราภรณ์ เป็นผู้ดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทมูลนิธิ มีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2495 พระโบราณคณิสสร เจ้าอาวาสของโจทก์ในสมัยนั้น ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับกรรมการวัดทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน มีเนื้อหาสาระคือ เห็นร่วมกันในการปรับปรุงที่ดินส่วนหนึ่งซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ ที่เป็นบริเวณสุสานของวัดโจทก์ที่มีอยู่แต่เดิมก่อนแล้ว ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงามและมั่นคงถาวรยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เป็นการสะดวกแก่การบำเพ็ญกุศลของประชาชนโดยทั่วไป เมื่อตกลงกันดังกล่าวแล้ว ต่อมาจึงได้มีการดำเนินการตามข้อตกลงจนแล้วเสร็จเมื่อประมาณปี 2496 ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2501 เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดิน เลขที่ 9149 เลขที่ดิน 126 ตำบลคลองสวนพลู อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้แก่โจทก์ เนื้อที่ 82 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา ซึ่งรวมถึงที่ดินส่วนที่เป็นสุสานดังกล่าวด้วย ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2501 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อดำเนินการบริหารจัดการดูแลสุสานดังกล่าวให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโจทก์โดยสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่วัดพนัญเชิงวรวิหาร คือที่วัดโจทก์ และตามตราสารของจำเลยที่ 1 ข้อ 16 ระบุว่า หากมูลนิธิต้องเลิกล้มโดยมติของคณะกรรมการหรือโดยประการใด ๆ ก็ตาม ให้ทรัพย์สินที่เหลือทั้งหมดของมูลนิธิตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เพื่อจัดการบำรุงสุสานและโรงพยาบาลต่อไป ต่อมาปี 2524 จำเลยที่ 1 แก้ไขตราสารกำหนดให้สำนักงานของจำเลยที่ 1 ไปอยู่ที่สุสาน และแก้ไขเรื่องการเลิกมูลนิธิเป็นว่า หากมูลนิธิเลิกล้มไปโดยมติของคณะกรรมการหรือโดยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตามให้ทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิที่เหลืออยู่ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์หรือสมาคมพ่อค้าพระนครศรีอยุธยา ตามที่คณะกรรมการกำหนด ต่อมาจำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการหลายครั้ง จำเลยที่ 1 ดูแลและบริหารผลประโยชน์ของสุสานโดยเรียกเก็บเงินจากผู้ที่ประสงค์จะนำศพมาฝังไว้ในสุสานดังกล่าว โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเปลี่ยนแปลงตราสารของมูลนิธิเป็นว่า ให้สถานที่ตั้งมูลนิธิอยู่ที่วัดไม่ใช่อยู่ที่สุสาน ให้คณะกรรมการบริหารมูลนิธิจำเลยที่ 1 ต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือฝ่ายโจทก์ ฝ่ายพ่อค้า และฝ่ายข้าราชการประจำหรือข้าราชการบำนาญ และกรณีเลิกมูลนิธิจำเลยที่ 1 ให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่เคยเป็นอยู่เดิม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ ถึงวันฟ้องเป็นคดีนี้ มีผู้นำศพไปฝังในสุสานดังกล่าว โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 และโจทก์นับได้ประมาณเป็นพันศพ ผู้ร้องสอดที่ 1 ถึง 102 เป็นทายาทของศพส่วนหนึ่งที่ถูกนำไปฝังไว้ในสุสานดังกล่าว
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีตามที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรื้อย้ายที่ฝังศพ (ฮ้วงซุ้ย) ออกจากที่ดินสุสานดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า ข้อที่จะต้องวินิจฉัยก่อนก็คือสุสานที่โจทก์อนุญาตให้มีขึ้นบนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ดังกล่าว ตามกฎหมายเป็นสุสานประเภทใด เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติควบคุมสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2481 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการทำบันทึกข้อตกลง เมื่อปี 2495 ก็ดี ตามพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ดี ได้ให้ความหมายของคำว่า สุสาน ตรงกัน คือ สุสาน มี 2 ประเภท ได้แก่ สุสานและฌาปนสถานสาธารณะ หมายความว่า ที่ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเผา ฝัง หรือเก็บศพสำหรับประชาชนทั่วไป กับ สุสานและฌาปนสถานเอกชน หมายความว่า ที่ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเผา ฝัง หรือเก็บศพของตระกูลหรือครอบครัวหรือมิตรของตระกูลหรือครอบครัว ดังนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติดังกล่าวแล้วว่า ที่ดินบริเวณที่เป็นสุสานดังกล่าว เป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และตามบันทึกที่พระโบราณคณิสสร เจ้าอาวาสของโจทก์ ทำเมื่อปี 2495 ร่วมกันกับกรรมการวัดทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ก็มีข้อความว่า โจทก์ โดยพระโบราณคณิสสร เจ้าอาวาส พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ได้ประชุมหารือกันว่า สุสานของวัดโจทก์อันเป็นที่บำเพ็ญการกุศลตามประเพณีโกดังเก็บศพ ตลอดจนฌาปนสถานอันเป็นที่เผาศพยังไม่มิดชิดและมั่นคงถาวร และขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่สวยงาม สมควรจัดการก่อสร้างเสียใหม่ให้ถาวรและเรียบร้อยเพื่อจะได้เป็นการสะดวกแก่การบำเพ็ญกุศลของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งนับว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ประการหนึ่ง หลังจากนั้นต่อเนื่องมาจนถึงจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2501 เพื่อบริหารดูแลสุสาน ในตราสารก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการดูแลสุสานสาธารณะ และที่ประตูทางเข้าสุสานมีป้ายบอกชัดเจนว่าเป็นสุสานสาธารณะ ดังนี้ เห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวรับฟังได้ชัดเจนว่าสุสานตามฟ้อง เป็นสุสานประเภทสุสานสาธารณะตามความหมายของพระราชบัญญัติควบคุมสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2481 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการทำบันทึกข้อตกลง เมื่อปี 2495 และตามพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์จะได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งสุสานให้มีใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หาใช่จะทำให้สุสานที่โดยสภาพและเจตนารมณ์เป็นสุสานสาธารณะกลายเป็นไม่ใช่สุสานสาธารณะหรือสุสานเอกชน หรือไม่ใช่สุสานไปเลย แต่อย่างใดไม่ แต่การเป็นสุสานสาธารณะ ซึ่งมีความหมายที่ชัดเจนแล้วตามกฎหมายดังกล่าว คือเป็นสถานที่ที่ใช้เป็นที่ฝัง เผา หรือเก็บศพสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่ได้หมายความไปถึงว่าที่ดินที่เป็นที่ตั้งของสุสานนั้นจะต้องตกเป็นที่ดินสาธารณะไปด้วย ที่ดินใดจะเป็นที่สาธารณะหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุตามกฎหมายแห่งการตกเป็นที่สาธารณะของที่ดินแปลงนั้นๆ เป็นกรณีๆ ไป สำหรับที่ดินแปลงที่เป็นที่ตั้งของสุสานสาธารณะในคดีนี้นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่บ่งชี้ว่าโจทก์ได้เคยแสดงเจตนายกที่ดินดังกล่าวให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ข้อเท็จจริงกลับรับฟังได้ว่า หลังจากทำบันทึกในปี 2495 ซึ่งระบุว่าโจทก์อนุญาตให้ใช้ที่ดินโจทก์ทำสุสานสาธารณะแล้ว ต่อมาปี 2501 โจทก์ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินในฐานะผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินในส่วนที่มีสุสานดังกล่าวรวมอยู่ด้วย และทำให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแปลงนั้น ต่อมาโจทก์ดำเนินการให้มีการจัดตั้งจำเลยที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือมาบริหารจัดการดูแลสุสานในนามโจทก์ และจำเลยที่ 1 เก็บเงินจากผู้ที่ประสงค์จะนำศพมาฝังในสุสานเป็นค่าบำรุงและระบุไว้ในตราสารการจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 ว่า หากยกเลิกจำเลยที่ 1 ไป ให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ดังนี้ เห็นว่า โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยให้ใช้เป็นสุสานสาธารณะ ยังคงหวงสิทธิในที่ดินดังกล่าวอยู่ และไม่ได้แสดงเจตนายกที่ดินที่เป็นที่ตั้งสุสานดังกล่าวให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด ดังนี้ โจทก์จึงยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวอยู่ต่อไป ส่วนโจทก์จะถูกรอนสิทธิหรือถูกจำกัดสิทธิในการใช้ที่ดินดังกล่าวในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างไรหรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ หรือเป็นกรณีไป เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าสุสานดังกล่าวเป็นสุสานของโจทก์ และเป็นสุสานประเภทสุสานสาธารณะ กรณีของที่ฝังศพ (ฮ้วงซุ้ย) แต่ละราย ที่ทายาทหรือบุคคลใดที่นำศพมาฝังไว้ในสุสานดังกล่าวโดยความยินยอมของโจทก์ จึงเป็นสัญญาหรือนิติสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสุสาน ไม่ว่าจะมีจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจัดการให้หรือไม่ก็ตาม กับทายาทหรือบุคคลที่มาติดต่อเพื่อขอนำศพมาฝังไว้ในสุสาน ว่ามีอยู่ต่อกันอย่างไร ตามหลักแห่งสัญญาตามกฎหมายทั่วไป หากโจทก์ประสงค์จะให้มีการรื้อที่ฝังศพรายใดรายหนึ่งหรือหลายรายหรือทั้งหมดออกไปหรือแม้แต่การยกเลิกการจัดตั้งสุสาน โจทก์ก็จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามสัญญาตามนิติสัมพันธ์ที่มีอยู่ต่อกัน และถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยสุสานคือพระราชบัญญัติสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 ด้วย เช่น ต้องแจ้งบอกกล่าวไปถึงทายาทหรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้นำศพมาฝังไว้ในสุสานดังกล่าวว่ามีข้อโต้แย้งคัดค้านอย่างไรหรือไม่ และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้พิจารณามีคำสั่งเสียก่อน เป็นต้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินการตามสัญญาและตามกฎหมายว่าด้วยสุสานดังกล่าว และโจทก์ไม่ได้ฟ้องทายาทหรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้นำศพมาฝังไว้ในสุสานซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับโจทก์ให้รื้อย้ายที่ฝังศพออกไป แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์ยืนยันว่าเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์และมีคำขอให้จำเลยทั้งสองรื้อย้ายที่ฝังศพทั้งหมดในสุสานดังกล่าวออกไปเป็นคดีนี้ จึงเป็นคำฟ้องและคำขอที่ไม่อาจบังคับจำเลยทั้งสองให้กระทำการเช่นนั้นได้ คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอให้รื้อย้ายที่ฝังศพทั้งหมดในสุสานดังกล่าวออกไป จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ ถึงแม้ต่อมา ผู้ร้องสอดในคดีนี้ จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความด้วยก็ตาม ก็ไม่อาจจะทำให้คำฟ้องส่วนที่ไม่ชอบของโจทก์ดังกล่าวกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบขึ้นมาได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่น เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้รื้อที่ฝังศพในสุสานในคดีนี้ได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนโจทก์ในการบริหารสุสาน จึงต้องถูกขับไล่ออกจากบริเวณพื้นที่สุสานของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ทั้ง ชื่อ วัตถุประสงค์ และสถานที่ตั้งทำการ ที่ปรากฏในตราสารการขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ที่ดำเนินการดูแลสุสานของโจทก์ตลอดมาเป็นที่ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินการดูแลสุสานในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ ข้อเท็จจริงนี้ จำเลยทั้งสองก็ให้การเป็นไปในทำนองรับ ดังนี้ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของโจทก์ในการดูแลสุสานของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำการไปในทางที่ขัดต่อความประสงค์ของโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เช่น การที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเปลี่ยนแปลงตราสารของมูลนิธิเป็นว่า ให้สถานที่ตั้งมูลนิธิอยู่ที่ตั้งของวัดโจทก์ตามที่เคยเป็นมาแต่เดิม และให้คณะกรรมการบริหารมูลนิธิจำเลยที่ 1 ต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือฝ่ายโจทก์ ฝ่ายพ่อค้า และฝ่ายข้าราชการประจำหรือข้าราชการบำนาญ และให้กรณีเลิกมูลนิธิทรัพย์สินของมูลนิธิต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่เคยเป็นในตราสารมาแต่เดิมแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่โจทก์ในฐานะตัวการจะปฏิเสธไม่ให้จำเลยที่ 1 กระทำการใดในฐานะเป็นตัวแทนโจทก์เกี่ยวกับการดูแลสุสานของโจทก์อีก เมื่อโจทก์บอกกล่าวแจ้งยกเลิกการอนุญาตให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนของโจทก์ทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารที่ทำการของจำเลยที่ 1 หรืออาคารที่พักคนงานของจำเลยที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินสุสานของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 400 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาของทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ