แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้คัดค้านทราบดีมาตั้งแต่แรกว่า ร. มีคดีพิพาทกับบริษัท อ. นายจ้างซึ่งเป็นบริษัทในเครือของผู้ร้องที่ศาลแรงงานภาค 2 แต่ผู้คัดค้านกลับใช้อำนาจในฐานะประธานกรรมการสหภาพแรงงานเรียกประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานเฉพาะกลุ่มพวกพ้องของตนในวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 แล้วใช้เสียงข้างมากรวบรัดลงมติแต่งตั้ง ร. เป็นกรรมการลูกจ้างบริษัท อ. เพื่อให้ ร. ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อให้ ร. ได้รับประโยชน์จากกฎหมายไปในทางที่ไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แม้ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องจะไม่ได้ระบุเกี่ยวกับการกระทำของผู้คัดค้านไว้โดยตรงและไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิดก็ตาม แต่การที่ผู้คัดค้านเป็นประธานกรรมการสหภาพแรงงานได้ก็เพราะเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง ผู้คัดค้านเป็นทั้งประธานกรรมการสหภาพแรงงานและเป็นกรรมการลูกจ้างย่อมต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และดำเนินการภายใต้บังคับของวัตถุที่ประสงค์ของสหภาพแรงงาน มิใช่นำฐานะความเป็นประธานกรรมการสหภาพแรงงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยมิชอบ การกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงมีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง เป็นประธานสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทยและกรรมการลูกจ้าง เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 วันที่ 4 วันที่ 11 วันที่ 12 วันที่ 15 และวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 วันที่ 7 และวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ผู้คัดค้านละทิ้งหน้าที่โดยออกไปนอกสถานที่ทำงานในเวลาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 59.6 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 ผู้คัดค้านในฐานะประธานสหภาพแรงงานได้มีหนังสือแจ้งบริษัทเอ็มเอ็มทีเอชเอ็นจิ้น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของผู้ร้องว่าเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 สหภาพแรงงานมีการประชุมและมีมติแต่งตั้งนายรุ่งศิริเรือง เป็นกรรมการลูกจ้าง อันเป็นความเท็จและให้ทนายความของนายรุ่งศิริเรืองแจ้งต่อศาลแรงงานภาค 2 เพื่อทำให้บริษัทดังกล่าวเข้าใจผิดว่านายรุ่งศิริเรืองเป็นกรรมการลูกจ้างซึ่งหากจะเลิกจ้างจะต้องขออนุญาตศาลแรงงานก่อนเพื่อประโยชน์ในคดีหมายเลขดำที่ 339/2556 และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา และเพื่อให้นายรุ่งศิริเรืองได้รับประโยชน์จากค่าจ้างและสวัสดิการ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อเจ้าพนักงานแรงงาน จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง และเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 มาตรา 119 (1) (2) และ (4) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 59.9 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ผู้คัดค้านเข้าร่วมประชุมล่าช้าเกินกว่าเวลาอันสมควร ขณะมีการประชุมวางแผนร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องวันทำงานของปี 2556 ระหว่างผู้บริหารระดับสูง เจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดและสหภาพแรงงาน ผู้คัดค้านแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวในลักษณะดูหมิ่น ไม่ให้เกียรติผู้บังคับบัญชาระดับสูงโดยกล่าวด้วยน้ำเสียงฉุนเฉียวในที่ประชุมว่า “เบื่อไม่อยากฟัง พูดแต่เรื่องเดิม ๆ” แล้วเดินออกจากห้องประชุมไป ต่อหน้าเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือและส่งผลเสียต่อการบริหารงาน การบังคับบัญชาและการปกครองพนักงาน เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 59.2 นอกจากนี้ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านต่อศาลแรงงานภาค 2 เนื่องจากผู้คัดค้านละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร แต่ในชั้นไกล่เกลี่ยผู้คัดค้านรับสารภาพ ผู้ร้องให้โอกาสปรับปรุงตัวและศาลแรงงานภาค 2 อนุญาตให้ผู้ร้องตักเตือนเป็นหนังสือแทนตามที่ผู้ร้องลดโทษให้ พฤติกรรมของผู้คัดค้านดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ โดยไม่มีความมุ่งหมายที่จะปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีและความเคารพเชื่อถือต่อผู้บังคับบัญชาและไม่มุ่งหวังที่จะปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของผู้ร้องอันชอบด้วยกฎหมายตามปกติวิสัยที่พนักงานควรปฏิบัติต่อองค์กร ทั้งผู้คัดค้านควรประพฤติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกจ้างอื่น ขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง เป็นประธานสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทยและกรรมการลูกจ้าง สหภาพแรงงานกับผู้ร้องทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 ในข้อ 3 ให้ประธานสหภาพแรงงานทำงานภารกิจของสหภาพแรงงานได้เต็มเวลาและได้รับค่าจ้างและสวัสดิการและผลประโยชน์อื่น ๆ เสมือนเป็นการทำงานปกติ ดังนั้นในวันที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านละทิ้งหน้าที่นั้นผู้คัดค้านได้ไปทำภารกิจของสหภาพแรงงานตามข้อตกลงจึงมิใช่การฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 คณะกรรมการสหภาพแรงงานได้ประชุมจริงและเสียงข้างมากมีมติแต่งตั้งนายรุ่งศิริเรืองเป็นกรรมการลูกจ้างแทนกรรมการลูกจ้างคนเดิมที่เสียชีวิต แต่การประชุมมีข้อบกพร่องที่ไม่ได้เรียกกรรมการเสียงข้างน้อยเข้าประชุม แต่เมื่อผู้ร้อง (ที่ถูกเป็น บริษัทในเครือผู้ร้อง) เลิกจ้างนายรุ่งศิริเรือง สหภาพแรงงานจึงหารือกับพนักงานตรวจแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานแจ้งว่าแต่งตั้งนายรุ่งศิริเรืองเป็นกรรมการลูกจ้างไม่ได้ สหภาพแรงงานจึงแนะนำให้นายรุ่งศิริเรืองถอนฟ้องและให้ไปใช้สิทธิร้องผู้ร้อง (ที่ถูกเป็น บริษัทในเครือผู้ร้อง) ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และมีการไกล่เกลี่ยแล้วตกลงกันได้โดยรับนายรุ่งศิริเรืองกลับเข้าทำงาน ดังนั้นการที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งนายรุ่งศิริเรืองเป็นกรรมการลูกจ้างจึงไม่ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายและไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) (2) และ (4) และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 การประชุมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ผู้คัดค้านพูดในทำนองว่าไม่อยากร่วมประชุมแล้วเพราะมีการพูดแต่เรื่องเดิม ๆ การประชุมไม่คืบหน้า แต่ผู้คัดค้านได้แสดงออกไปตามวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ได้แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวในลักษณะดูหมิ่นผู้แทนผู้ร้องหรือต่อบุคคลใดจึงไม่ได้ฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน อีกทั้งบทบาทของผู้คัดค้านที่ผ่านมาได้กระทำตามภารกิจของสหภาพแรงงานมิใช่เรื่องส่วนตัวจึงมิได้เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานภาค 2 อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงและปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบอุตสาหกรรมผลิต ประกอบและจำหน่ายรถยนต์ บริษัทเอ็มเอ็มทีเอชเอ็นจิ้น จำกัด เป็นบริษัทในเครือของผู้ร้องโดยมีผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีวัตถุประสงค์ประกอบและหรือผลิตเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนของเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ส่วนควบของรถยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ และรับจ้างประกอบและผลิตสินค้าดังกล่าว ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง ตำแหน่งพนักงานผลิต และเป็นประธานสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทยและกรรมการลูกจ้าง นายรุ่งศิริเรือง เป็นลูกจ้างของบริษัทเอ็มเอ็มทีเอชเอ็นจิ้น จำกัด สหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทยเป็นสหภาพแรงงานในกิจการประเภทเดียวกันที่จัดตั้งขึ้นโดยลูกจ้างของผู้ร้องและบริษัทเอ็มเอ็มทีเอชเอ็นจิ้น จำกัด เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ขณะที่มีการประชุมวางแผนร่วมกันเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรื่องวันทำงานและวันหยุดประจำปี 2556 ของผู้ร้อง ผู้คัดค้านได้เข้าร่วมประชุมล่าช้ากว่ากำหนดเวลาและกล่าวในที่ประชุมทำนองว่าพูดแต่เรื่องเดิม ๆ ก่อนจะลุกออกจากห้องประชุมไป เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2556 วันที่ 4 วันที่ 11 วันที่ 12 วันที่ 15 และวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 วันที่ 7 และวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ซึ่งเป็นวันทำงานปกติ ผู้คัดค้านได้มาลงบันทึกเวลาทำงานในตอนเช้า แต่ในช่วงเวลาทำงานผู้คัดค้านได้ออกไปจากบริเวณโรงงานโดยไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ร้องทราบแล้วกลับมาลงบันทึกเวลาเลิกงานในตอนเย็นตามตารางการเข้าปฏิบัติงานและเข้าออก ณ ประตูทางออก วันที่ 15 กรกฎาคม 2556 ผู้คัดค้านในฐานะประธานสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทยมีหนังสือแจ้งบริษัทในเครือของผู้ร้องว่า คณะกรรมการสหภาพแรงงานได้ประชุมและมีมติแต่งตั้งนายรุ่งศิริเรืองเป็นกรรมการลูกจ้าง แล้ววินิจฉัยว่า เหตุที่ผู้คัดค้านมาเข้าร่วมประชุมสายนั้นได้ความว่าเพราะผู้คัดค้านเดินทางไปรับปฏิทินที่สหพันธ์แรงงานรถยนต์แห่งประเทศไทย จังหวัดสมุทรปราการ โดยได้รับอนุญาตจากนายชูเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล แล้ว ดังนี้การที่ผู้คัดค้านต้องเดินทางไปรับปฏิทินเพื่อนำมาแจกให้แก่ผู้ใช้แรงงานในเขตแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เป็นเหตุให้มาเข้าร่วมประชุมล่าช้ากว่ากำหนด นับได้ว่ามีเหตุผลอันสมควรตามพฤติการณ์ หาใช่เป็นการจงใจไม่ให้ความสำคัญในเรื่องการประชุมตามที่นัดหมายไว้หรือต้องการกลั่นแกล้งบุคคลใดในที่ประชุมให้รอผู้คัดค้านด้วยเหตุอันไม่สมควร ส่วนกรณีที่ผู้คัดค้านกล่าวในที่ประชุมด้วยถ้อยคำในทำนองว่าในที่ประชุมมีการพูดแต่เรื่องเดิม ๆ แม้จะเป็นคำพูดที่ไม่เหมาะสมไม่สมควรที่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาจะกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลภายนอกที่ร่วมประชุมอยู่ในห้องประชุมด้วยก็ตาม แต่ถ้อยคำของผู้คัดค้านดังกล่าวยังไม่มีลักษณะเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคลใดให้ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือเกียรติยศหรือเป็นการข่มขู่คุกคามแสดงความอาฆาตมาดร้ายบุคคลใดให้เกิดความเกรงกลัวแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงการระบายความรู้สึกส่วนตัวเกี่ยวกับเนื้อหาในการประชุมที่มีการพูดคุยกันในเรื่องเดิม ๆ ทำให้ผู้คัดค้านเกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากรับฟังด้วยเท่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านมีพฤติการณ์ดูหมิ่นผู้บริหารซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ร้องหรือผู้บังคับบัญชา ส่วนที่อ้างว่าผู้คัดค้านละทิ้งหน้าที่ออกไปจากบริเวณโรงงานโดยไม่ได้แจ้งผู้บังคับบัญชาหรือผู้ร้องทราบเพื่อขอลาหยุดหรือออกนอกโรงงานนั้น ได้ความว่า ผู้ร้องกับสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทยได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 ไว้ต่อกัน ในข้อ 3 ว่า ประธานสหภาพแรงงานและเลขาธิการสหภาพแรงงานสามารถทำงานในภารกิจของสหภาพแรงงานได้เต็มเวลาและได้รับค่าจ้างและสวัสดิการและผลประโยชน์อื่นเสมือนเป็นการทำงานตามปกติ เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวยังคงใช้บังคับอยู่โดยไม่มีการยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติภารกิจของสหภาพแรงงานของผู้คัดค้านในฐานะประธานสหภาพแรงงานย่อมได้รับการคุ้มครอง และเมื่อผู้คัดค้านมีหลักฐานมาแสดงว่าในช่วงเวลาดังกล่าวได้ไปปฏิบัติภารกิจในกิจการของสหภาพแรงงาน โดยไม่ปรากฏว่าได้ไปกระทำการอื่นนอกเหนือภารกิจของสหภาพแรงงาน กรณีจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้คัดค้านละทิ้งหน้าที่ออกไปจากบริเวณโรงงานในระหว่างวันเวลาทำงานอันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง และกรณีนี้เป็นคนละเหตุกับกรณีที่ผู้คัดค้านเคยถูกลงโทษตักเตือนเป็นหนังสือตามที่ศาลแรงงานภาค 2 อนุญาตในคดีหมายเลขดำที่ 132/2554 ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านละทิ้งงานไปกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่ในกิจการของสหภาพแรงงาน ส่วนเรื่องที่ผู้คัดค้านในฐานะประธานสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทยกับพวกได้ประชุมและมีมติแต่งตั้งนายรุ่งศิริเรืองเป็นกรรมการลูกจ้างและแจ้งบริษัทเอ็มเอ็มทีเอชเอ็นจิ้น จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของนายรุ่งศิริเรืองนั้น ได้ความว่าก่อนหน้าที่นายรุ่งศิริเรืองจะได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการลูกจ้างตามมติของสหภาพแรงงาน นายรุ่งศิริเรืองได้ยื่นฟ้องบริษัทนายจ้างซึ่งเป็นบริษัทในเครือของผู้ร้อง ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกจ้าง คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาและไกล่เกลี่ยของศาลแรงงานภาค 2 และเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556 ผู้คัดค้านเดินทางมาศาลกับนายรุ่งศิริเรือง ในการไกล่เกลี่ยนายรุ่งศิริเรืองได้ปรึกษากับทนายความว่าจะขอเวลาไปปรึกษากันแล้วจะแจ้งให้ทราบในวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 ดังนี้จึงแสดงว่าผู้คัดค้านทราบดีอยู่แล้วว่านายรุ่งศิริเรืองมีคดีพิพาทกับนายจ้างที่ศาลแรงงานภาค 2 การที่ผู้คัดค้านใช้อำนาจในฐานะประธานสหภาพแรงงานเรียกประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานเฉพาะในกลุ่มพวกพ้องของตนในวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 แล้วใช้เสียงข้างมากรวบรัดลงมติแต่งตั้งนายรุ่งศิริเรืองเป็นกรรมการลูกจ้าง เป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงเจตนาไม่บริสุทธิ์ของผู้คัดค้านที่ต้องการช่วยเหลือนายรุ่งศิริเรืองมิให้ถูกนายจ้างบอกเลิกจ้างเพราะหากนายรุ่งศิริเรืองเป็นกรรมการลูกจ้าง การบอกเลิกจ้างของนายจ้างย่อมมิอาจกระทำได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานเสียก่อน การกระทำของผู้คัดค้านนอกจากจะแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์ต่อตำแหน่งหน้าที่ในฐานะผู้นำสูงสุดขององค์กรสหภาพแรงงานซึ่งต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกจ้างทั่วไปแล้ว ยังเป็นการมุ่งหวังให้นายรุ่งศิริเรืองได้รับประโยชน์ต่าง ๆ จากการอ้างอิงใช้ตำแหน่งกรรมการลูกจ้างในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแรงงานภาค 2 ซึ่งเรื่องดังกล่าวล้วนอยู่ในความรู้เห็นของผู้คัดค้านมาโดยตลอด การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการจงใจทำให้บริษัทนายจ้างของนายรุ่งศิริเรืองและผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวได้รับความเสียหาย อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง อีกทั้งยังเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมด้านกฎหมายแรงงานเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังได้ความอีกว่าในการประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ได้นำเรื่องการประชุมลงมติของคณะกรรมการสหภาพแรงงานที่แต่งตั้งนายรุ่งศิริเรืองเป็นกรรมการลูกจ้างเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 เสนอให้ที่ประชุมมีมติรับรอง ทั้งที่ไม่มีการแจ้งวาระการประชุมในเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมทราบมาก่อน ย้ำชัดให้เห็นว่าผู้คัดค้านมีความพยายามพลิกแพลงใช้ผู้ที่ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องมากลบเกลื่อนการกระทำของตนให้กลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องขึ้นอย่างไม่ตระหนักถึงวิถีทางอันชอบธรรม ทั้งนี้เพียงเพื่อต้องการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องบางคนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อคนจำนวนมาก นับเป็นการทำลายรากฐานระบบกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่มุ่งเน้นส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันและมีความปรองดองสมานฉันท์ในการทำงานร่วมกัน หากผู้คัดค้านยังคงปฏิบัติงานอยู่ต่อไปในระยะยาวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรฝ่ายลูกจ้างและกิจการของผู้ร้อง กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านโดยการเลิกจ้างได้
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน โดยผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ไม่ได้ระบุว่าการที่ผู้คัดค้านเรียกประชุมสหภาพแรงงานเพื่อแต่งตั้งนายรุ่งศิริเรืองเป็นกรรมการลูกจ้างของบริษัทในเครือเป็นความผิด ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวใช้กับสถานประกอบกิจการของผู้ร้องเท่านั้น จะนำมาใช้บังคับกับสหภาพแรงงานไม่ได้ ทั้งกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ก็ไม่ได้บัญญัติว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิด ที่ศาลแรงงานภาค 2 อนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ขัดต่อกฎหมายและเป็นการพิพากษาเกินกว่ากฎหมายกำหนด นั้น เห็นว่า การที่ผู้คัดค้านทราบดีมาตั้งแต่แรกว่านายรุ่งศิริเรืองมีคดีพิพาทกับบริษัทเอ็มเอ็มทีเอชเอ็นจิ้น จำกัด นายจ้างซึ่งเป็นบริษัทในเครือของผู้ร้องที่ศาลแรงงานภาค 2 แต่ผู้คัดค้านกลับใช้อำนาจในฐานะประธานสหภาพแรงงานเรียกประชุมคณะกรรมการสหภาพแรงงานเฉพาะกลุ่มพวกพ้องของตนในวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 แล้วใช้เสียงข้างมากรวบรัดลงมติแต่งตั้งนายรุ่งศิริเรืองเป็นกรรมการลูกจ้างบริษัทเอ็มเอ็มทีเอชเอ็นจิ้น จำกัด เพื่อให้นายรุ่งศิริเรืองได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อให้นายรุ่งศิริเรืองได้รับประโยชน์จากกฎหมายไปในทางที่ไม่สุจริต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แม้ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องจะไม่ได้ระบุเกี่ยวกับการกระทำของผู้คัดค้านไว้โดยตรง และไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิดดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ก็ตาม แต่การที่ผู้คัดค้านเป็นประธานสหภาพแรงงานได้ก็เพราะเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง ผู้คัดค้านเป็นทั้งประธานสหภาพแรงงานและเป็นกรรมการลูกจ้างย่อมต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และดำเนินการภายใต้บังคับของวัตถุที่ประสงค์ของสหภาพแรงงาน มิใช่นำฐานะความเป็นประธานสหภาพแรงงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยมิชอบ การกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงมีเหตุอันสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ที่ศาลแรงงานภาค 2 อนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านนั้น จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน