คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1164/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 232 บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานนั้น หมายถึง จำเลยในคดีเดียวกัน แต่ น. มิได้เป็นจำเลยร่วมกับจำเลยในคดีนี้ กรณีจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232
เมื่อมีการปลอมหนังสือเดินทางซึ่งออกให้แก่บุคคลหนึ่งแล้วต่อมาปลอมตราประทับของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประทับลงในหนังสือเดินทางที่ปลอมขึ้นนั้นเพื่อให้มีรายการครบถ้วน ทั้งนี้ เพื่อที่จะนำหนังสือเดินทางดังกล่าวไปใช้ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท เมื่อจำเลยปลอมหนังสือเดินทางเสร็จฉบับหนึ่งก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว เพราะโดยสภาพของการกระทำย่อมแยกออกจากกันได้ เมื่อจำเลยปลอมหนังสือเดินทาง 2 ฉบับ ต่างรายกัน จึงเป็นความผิดสองกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 91, 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 (ที่ถูกมาตรา 264 วรรคแรก), 265, 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการตามมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยข้อแรกที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารธรรมดาไม่ใช่ปลอมเอกสารราชการเพราะเป็นหนังสือเดินทางประเทศญี่ปุ่น ฉบับเลขที่ เอ็มพี 1527958 และฉบับเลขที่ เอ็มพี 1100158 ตามฟ้องที่มีการปลอม เป็นหนังสือเดินทางที่ประเทศญี่ปุ่นทำขึ้นประเทศไทยหรือเจ้าพนักงานไทยมิได้เป็นผู้จัดทำ จึงมิใช่เอกสารราชการตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (8) นั้น พิเคราะห์แล้วโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยปลอมหนังสือเดินทางของประเทศญี่ปุ่นแล้วปลอมตราประทับเข้าและออกในหนังสือเดินทางทั้งสองฉบับดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้อง เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในการปลอมหนังสือเดินทางประเทศญี่ปุ่นอันเป็นการปลอมเอกสารราชการ และศาลชั้นต้นก็มิได้ลงโทษในข้อหาดังกล่าว คงลงโทษในข้อหาปลอมเอกสารธรรมดาเท่านั้น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาจำเลยในปัญหานี้ ปัญหาข้อกฎหมายต่อไปว่า การที่โจทก์อ้างนางนรารัตน์เป็นพยานโจทก์เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 ที่ห้ามโจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน เพราะนางนรารัตน์ถูกฟ้องเป็นจำเลยในการกระทำผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและเอกสารราชการในการกระทำเดียวกันกับจำเลยในคดีนี้ เป็นมูลคดีเดียวกันตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7325/2541 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 ซึ่งห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานนั้น หมายถึงจำเลยในคดีเดียวกัน แต่นางนรารัตน์มิได้เป็นจำเลยร่วมกับจำเลยในคดีนี้ กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 โจทก์อ้างนางนรารัตน์เป็นพยานโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง โดยจำเลยร่วมกับพวกปลอมหนังสือเดินทางประเทศญี่ปุ่น 2 ฉบับ แล้วปลอมตราประทับขาเข้าและขาออกของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองในหนังสือเดินทางทั้งสองฉบับดังกล่าว การปลอมหนังสือเดินทางซึ่งออกให้แก่บุคคลหนึ่งแล้วปลอมตราประทับของเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองลงในหนังสือเดินทางที่ปลอมขึ้นเพื่อให้มีรายการครบถ้วน เพื่อที่จะนำหนังสือเดินทางไปใช้ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท เพื่อที่จะนำหนังสือเดินทางไปใช้ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท เมื่อจำเลยปลอมหนังสือเดินทางเสร็จฉบับหนึ่งก็เป็นความผิดสำเร็จแล้วเพราะโดยสภาพของการกระทำ การกระทำของจำเลยย่อมแยกออกจากกันได้ เมื่อจำเลยปลอมหนังสือเดินทาง 2 ฉบับต่างรายกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมรวม 2 กระทง ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยมาเพียงกรรมเดียว จึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยไม่แก้โทษ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 2 กระทง ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share