แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ระยะเวลาเกิดเหตุและสถานที่เกิดเหตุในความผิดข้อหาดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับความผิดตามฟ้องคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ โดยจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหาย และนำขยะไปทิ้งในที่ดินดังกล่าวตรงกัน อีกทั้งการกระทำของจำเลยในทั้งสองคดีเป็นครั้งเดียวกัน แม้ฐานความผิดจะต่างกัน ก็เป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในการกระทำความผิดข้อหาดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจนศาลพิพากษาลงโทษปรับและคดีถึงที่สุดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก แม้จะไม่อ้างบทลงโทษตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ ก็เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 358, 362, 365
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 365 (3) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานบุกรุก ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน เห็นควรเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1385/2545 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูล หรือมูลฝอย โดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยจำเลยรับขนขยะจากจังหวัดเชียงใหม่ไปทิ้งที่เขตตำบลเหมืองง่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง คดีถึงที่สุด ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์โดยจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหาย และนำขยะไปทิ้งในที่ดินดังกล่าว เห็นว่า ระยะเวลาเกิดเหตุและสถานที่เกิดเหตุในความผิดข้อหาดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับความผิดตามฟ้องคดีนี้ตรงกัน อีกทั้งการกระทำของในทั้งสองคดีเป็นครั้งเดียวกัน แม้ฐานความผิดจะต่างกัน ก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในการกระทำความผิดข้อหาดำเนินกิจการรับทำการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจนศาลพิพากษาลงโทษปรับและคดีถึงที่สุดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก แม้จะไม่อ้างบทลงโทษตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขก็เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า การกระทำความผิดของจำเลยแต่ละคดีมีเจตนาต่างกันเป็นคนละกรรม ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์