คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1850/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นบริษัทจำกัดที่ชำระมูลค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว บริษัทที่ถือหุ้นของจำเลยจะประกอบกิจการขาดทุนก็ไม่มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของจำเลย แม้ผลประกอบการของจำเลยจะมีกำไรสุทธิน้อยลง แต่ก็ยังคงมีกำไรอยู่ ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่างานของจำเลยได้ลดน้อยลงมากหรือประสบกับการขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดรายจ่ายและลดจำนวนพนักงานเพื่อพยุงฐานะของจำเลยให้อยู่รอด การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพื่อลดค่าใช้จ่ายจึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุอันสมควร ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 11,737,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยมีหนังสือรับรองการผ่านงานให้แก่โจทก์ โดยระบุว่าโจทก์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ 275,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 275,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 กรกฎาคม 2545) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยมีหนังสือรับรองการผ่านงานให้แก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการนำเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเที่ยว มีนายเรย์มอนด์ กาสตอน โฮนิงส์ หรือนายธนา ธนปวัฒน์ ลงลายมือชื่อประทับตราสำคัญของบริษัทหรือกรรมการอื่นสองคนลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัททำการแทนจำเลยได้ ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.11 ล.2 โดยมีบริษัทแอลทียู ทัวริสติค จีเอ็มบีเอส จำกัด ถือหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งประกอบธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลก โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2540 ตามบันทึกเอกสารหมาย ล.1 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการอาวุโสแผนกปฏิบัติการ ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.5 อัตราเงินเดือน 55,000 บาท กำหนดจ่ายอย่างช้าภายในวันทำงานสุดท้ายของเดือน โจทก์มีหน้าที่ประสานงานกับบริษัทรถยนต์และมัคคุเทศก์ ดูแลงานบริการของลูกทัวร์ เพื่อให้ลูกทัวร์มีความพอใจในบริการของจำเลยวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 ได้มีการประชุมระหว่างฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างโดยโจทก์ร่วมประชุมฝ่ายลูกจ้างด้วย ประชุมในเรื่องข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง กับวิธีการลดจำนวนพนักงานคนไทย และในกรณีที่จำเลยให้ลูกจ้างคนไทยออกจากงานโดยไม่มีความผิด ให้จำเลยจ่ายเงินช่วยเหลือเป็นเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่ลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างเดือนสุดท้ายคูณด้วย 5 เท่าของจำนวนปีอายุงาน แต่ต้องไม่น้อยกว่า 400,000 บาท เศษของปีให้นับเป็น 1 ปี การจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษนี้ไม่รวมถึงค่าชดเชยตามกฎหมาย ผลการประชุมยังไม่มีข้อยุติ ตามสำเนาบันทึกการประชุมเอกสารหมาย จ.2 และ ล.10 วันที่ 23 พฤษภาคม 2545 จำเลยได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545 เป็นต้นไป ตามบันทึกเอกสารหมาย ล.12 หนังสือเลิกจ้างนี้โจทก์ไม่ยอมลงลายมือชื่อเมื่อนางจิรดี เลิศผาติวงศ์ ผู้บริหารฝ่ายบัญชีและการเงินลูกจ้างจำเลยได้อ่านให้โจทก์ฟังแล้ว ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2545 จำเลยได้มีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อีก 1 ฉบับ โดยหนังสือฉบับนี้ได้ปลดโจทก์ออกทันที ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.13 ต่อมาจำเลยประกาศให้มีผลเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2545 ตามต้นฉบับและสำเนาเอกสารหมาย จ.10 และ ล.15 ซึ่งถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2545 รวมระยะเวลาที่โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกัน 4 ปี 11 เดือน 17 วัน ในการเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวนั้น จำเลยได้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเงินโบนัส และค่าจ้างค้างจ่ายรวม 451,466.66 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาหรือไม่ ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทแอลทียู ทัวริสติค จีเอ็มบีเอส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของจำเลยประกอบกิจการขาดทุน และผลประกอบการของจำเลยก็มีกำไรสุทธิลดลงด้วยแต่ยังคงมีกำไร จำเลยจึงได้เลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการอาวุโสแผนกปฏิบัติการเพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดจำนวนพนักงานลง เห็นว่า จำเลยเป็นบริษัทจำกัดที่ชำระมูลค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว บริษัทที่ถือหุ้นของจำเลยจะประกอบกิจการขาดทุนก็ไม่มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของจำเลยแม้ผลประกอบการของจำเลยจะมีกำไรสุทธิน้อยลง แต่ก็ยังคงมีกำไรอยู่ และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่างานของจำเลยได้ลดน้อยลงมากหรือประสบกับการขาดทุนจนถึงขนาดต้องลดรายจ่ายและลดจำนวนพนักงานเพื่อพยุงฐานะของจำเลยให้อยู่รอด การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพื่อลดค่าใช้จ่ายนั้น จึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุอันสมควร ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share