คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14297/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายเดิม ซึ่งต่อมาเมื่อมีการแก้ไขโดย พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 อันเป็นเวลาที่จำเลยได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว ได้เทียบตำแหน่งกรรมการบริหารเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายใหม่ ดังนั้น การที่จำเลยปิดประกาศโฆษณาว่าเคยดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอันเป็นความเชื่อของจำเลยโดยสุจริตว่าตำแหน่งเทียบเท่ากันได้ และจำเลยมีสิทธิจะใช้ชื่อตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้ และการที่จำเลยได้รับการเลือกตั้งโดยมีคะแนนรวมเป็นอันดับที่ 1 น่าจะเกิดจากผลงาน ชื่อเสียงในการทำงานทางการเมืองในครั้งก่อน ๆ เชื่อว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำการอันเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจผิดในเรื่องประสบการณ์การทำงานของจำเลยแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 4, 57, 118 และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยมีกำหนดสิบปี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (5), 118 จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ขณะที่จำเลยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเหมืองหม้อในปี 2543 จำเลยเคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลเหมืองหม้อ จำเลยได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวโดยมีผลในวันที่ 21 มิถุนายน 2545 ในปี 2546 พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ได้มีการแก้ไขรวม 2 ครั้ง ครั้งแรก แก้ไขโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 โดยมาตรา 17 ให้ยกเลิกความในมาตรา 58 เดิม และให้ใช้ข้อความใหม่ว่า “มาตรา 58 คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลประกอบด้วยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคนหนึ่ง และรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนสองคน ซึ่งสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเลือกจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแล้วเสนอให้นายอำเภอแต่งตั้ง” นายชวลิต นายอำเภอเมืองแพร่ขณะนั้น ได้จัดทำสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 และร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวส่งให้แก่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่ง และประธานสภาตำบลทุกแห่ง ซึ่งสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขดังกล่าว ข้อ 1.3 ให้เปลี่ยนชื่อกรรมการบริหารเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ครั้งที่สอง แก้ไขโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2546 โดยเพิ่มเติมความในมาตรา 58/3 ขึ้นใหม่ว่า “นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอาจแต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งไม่ใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้ช่วยเหลือในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลตามที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมอบหมายได้ไม่เกินสองคน…..” จะเห็นได้ว่าตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายที่แก้ไขโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นฉบับครั้งหลังสุด ได้ลดบทบาทและสถานะหน้าที่ของรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจากเดิมลงโดยสิ้นเชิงกล่าวคือผู้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะต้องมิใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และการเข้ามาทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ช่วยเหลือในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลตามที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะมอบหมายเท่านั้น ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า การที่จำเลยซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายเดิม ซึ่งต่อมาเมื่อมีการแก้ไขโดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 อันเป็นเวลาที่จำเลยได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วตามเอกสารสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้เทียบตำแหน่งกรรมการบริหารซึ่งจำเลยเคยดำรงตำแหน่งนี้อยู่เป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2546 ยังคงบัญญัติตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนี้อยู่ เพียงแต่ว่ามีสถานะและอำนาจหน้าที่น้อยกว่าเดิมดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว จำเลยอาจเชื่อโดยสุจริตว่าเมื่อมีกฎหมายแก้ไขและยกเลิกตำแหน่งกรรมการบริหาร อีกทั้งตามสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ได้เทียบตำแหน่งกรรมการบริหารเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิที่จะใช้ชื่อตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้ และการที่จำเลยปิดประกาศโฆษณาว่า เคยดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลก็ไม่มีเหตุที่จะจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจผิดในเรื่องประสบการณ์การทำงานของจำเลยแต่อย่างใด เพราะตำแหน่งกรรมการบริหารสภาตำบลเป็นตำแหน่งที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอีกทั้งเป็นตำแหน่งผู้บริหารส่วนตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นเพียงบุคคลที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแต่งตั้งให้เข้ามาช่วยเหลือในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลตามที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมอบหมายเท่านั้น อีกทั้งมิใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชน การที่จำเลยได้รับการเลือกตั้ง โดยมีคะแนนรวมเป็นลำดับที่ 1 จึงน่าจะเกิดจากผลงานชื่อเสียงในการทำงานทางการเมืองในครั้งก่อน ๆ มาของจำเลยมากกว่า ลำพังเพียงแต่ใช้ชื่อโฆษณาว่าเคยดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเหมืองหม้อ แม้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เชื่อว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำการอันเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจผิดในเรื่องประสบการณ์การทำงานของจำเลยแต่อย่างใด ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกประเด็นเรื่องข้อความที่จำเลยอ้างว่าเคยดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการสภาฯ ” แต่ความจริงจำเลยเคยดำรงตำแหน่ง “เลขานุการสภา” ขึ้นมาวินิจฉัยและจำเลยได้ยกขึ้นฎีกาด้วยนั้น เห็นว่า เป็นเรื่องนอกฟ้องของโจทก์เพราะตามคำฟ้องบรรยายแต่เพียงเรื่องที่จำเลยอ้างความเท็จว่าดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารตำบลเหมืองหม้อเท่านั้น ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share