แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศมาเลเซียตั้งแต่ปี 2531 ทั้งได้โฆษณาและนำสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่ายในประเทศมาเลเซียและประเทศอื่น โจทก์จึงเป็นผู้ที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวอยู่ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยรับโอนและขอจดทะเบียนใหม่ ดังนี้ไม่ว่าโจทก์จะได้ส่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือไม่ ก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า CHUNG WA BRAND อ่านว่า ชุง วา แบรนด์ กับรูปประดิษฐ์และอักษรจีนคำว่า ตง ฮั่ว ไป๊ อยู่ด้านล่าง ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า CHUNG WA BRAND อ่านว่า ชุง วา แบรนด์ กับรูปประดิษฐ์ที่มีอักษรจีนคำว่า ตง อยู่ตรงกลาง และมีอักษรจีนคำว่า ตง ฮั่ว ไป๊ อยู่ด้านล่าง ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า และโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2, 3 และ 4 ดีกว่าจำเลย ให้จำเลยถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 255010 ทะเบียนเลขที่ ค 35520 และคำขอเลขที่ 343486 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและห้ามจำเลยใช้ ยื่นขอจดทะเบียน หรือเกี่ยวข้องในทางใดๆ กับเครื่องหมายการค้า ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และเครื่องหมายการค้าอื่นใดที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และ 4 อีกต่อไป
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า CHUNG WA BRAND กับรูปประดิษฐ์และอักษรจีนตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2, 3 และ 4 ดีกว่าจำเลยให้จำเลยถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 255010 ทะเบียนเลขที่ ค 35520 และคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 343486 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ยกคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยรับโอนมาจากนายรุ่งศักดิ์ ทะเบียนเลขที่ ค 35520 และที่จำเลยยื่นขอจดทะเบียนตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 343486 คือ เครื่องหมายการค้า และ ตามลำดับ ดีกว่าจำเลยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพยานหลักฐานมาแสดงว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2531 ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนท้ายบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายออยหลังจากนั้นโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของโจทก์และนำออกจำหน่ายในประเทศมาเลเซียและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศไทยโดยมีการโฆษณาสินค้าตลอดมา หลักฐานการโฆษณาหนังสือพิมพ์ในประเทศมาเลเซียระหว่างปี 2534 ถึง 2536 ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินค่าโฆษณา และหนังสือพิมพ์ที่ลงโฆษณาในเอกสารหมาย จ.26 แผ่นที่ 23 ถึง 27 ส่วนจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวแต่ประการใด ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเพิ่งรับโอนเครื่องหมายการค้า มาจากนายรุ่งศักดิ์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2540 แม้แต่นายรุ่งศักดิ์ผู้โอนก็เพิ่งจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2536 โดยไม่ปรากฏว่านายรุ่งศักดิ์ได้นำเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้นี้ไปใช้กับสินค้าใด พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย น่าเชื่อตามทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า โดยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ในประเทศมาเลเซียตั้งแต่ปี 2531 ทั้งได้โฆษณาและนำสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวออกจำหน่ายในประเทศมาเลเซียและประเทศอื่น โจทก์จึงเป็นผู้ที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวอยู่ก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยรับโอนและขอจดทะเบียนใหม่ ดังนี้ไม่ว่าโจทก์จะได้ส่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย เมื่อนายรุ่งศักดิ์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และต่อมาได้โอนให้แก่จำเลย กับต่อมาจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ หากต่างฝ่ายต่างนำมาใช้กับสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกันย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ เมื่อโจทก์มาขอจดทะเบียนในภายหลัง อันเป็นการกระทบต่อสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ผู้มีสิทธิดีกว่า โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีสิทธิขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามทะเบียนเลขที่ ค 35520 รวมทั้งขอให้ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 343468 ของจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์.