แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้เป็นที่สุดนั้น ย่อมหมายถึงคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากผู้ขอจดทะเบียนยังไม่เห็นด้วยกับเหตุผลในคำวินิจฉัยว่าลักษณะของเครื่องหมายการค้าของผู้ขอมีลักษณะไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนและคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรแล้ว ผู้ขอย่อมนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อให้ทบทวนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้านั้นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้ ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM ของโจทก์ โดยตั้งข้อหาไว้ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ระบุรายการสินค้าในแต่ละคำขอไว้หลายรายการนั้นเป็นลักษณะของการพิจารณาเป็นรายคำขอ มิใช่ต้องพิจารณาสินค้าแต่ละชนิดในรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนเมื่อนายทะเบียนพบลักษณะที่ต้องห้ามมิให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าชนิดใดในรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนนั้นแล้ว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอนั้น หากโจทก์เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ต้องห้ามจดทะเบียนสำหรับสินค้าชนิดใดเพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์มิใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง โจทก์ก็ชอบที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าชนิดนั้นโดยระบุเฉพาะสินค้าชนิดนั้นในคำขอจดทะเบียนได้
เมื่อพิจารณาจากรายการสินค้าในจำพวกที่ 3 ที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM ซึ่งมีความหมายว่าครีมหรือของเหลวสำหรับผิวหนัง ล้วนเป็นสินค้าที่เป็นของเหลวหรือมีของเหลวอยู่ด้วยซึ่งใช้กับผิวหนังทั้งสิ้น โดยเฉพาะโลชั่นใช้กับเด็กอ่อนเห็นได้ชัดว่าเป็นของเหลวหรือครีมสำหรับผิวหนัง และสินค้าในจำพวกที่ 16 ก็เป็นสินค้าที่มีส่วนผสมของของเหลวหรือครีมสำหรับผิวหนัง คำว่า DERMACREAM จึงเป็นคำที่มีความหมายเล็งถึงลักษณะของสินค้าในจำพวกที่ 3 และที่ 16 ดังกล่าวโดยตรงอันไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6 (1) และ มาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ. 0704/7450 ลงวันที่ 15 กันยายน 2542 (คำขอเลขที่ 390647) และที่ พณ. 0704/10125 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 (คำขอเลขที่ 390648) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 890/2543 และ 1003/2543 กันบังคับจำเลยทั้งสองและนายทะเบียนเครื่องหมาการค้าให้ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 390647 และคำขอเลขที่ 390648 ต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกคือ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในคดีนี้เป็นที่สุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้เป็นที่สุดนั้น ย่อมหมายถึงคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากผู้ขอจดทะเบียนยังไม่เห็นด้วยกับเหตุผลในคำวินิจฉัยว่าลักษณะของเครื่องหมายการค้าของผู้ขอมีลักษณะไม่ต้องห้ามมิให้จดทะเบียนและคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรแล้ว ผู้ขอย่อมนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อให้ทบทวนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้านั้นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้ ซึ่งในข้อนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM ของโจทก์ โดยตั้งข้อหาไว้ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนปัญหาในอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM ที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าจำพวกที่ 3 รายการสินค้า โลชั่นใช้กับเด็กอ่อน และสินค้าอื่นๆ ในจำพวกนี้ตามคำขอเลขที่ 390647 และที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าจำพวกที่ 16 รายการสินค้าผ้าอ้อมทำด้วยกระดาษและ/หรือเซลลูโลสหรือกระดาษทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัยที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ/หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อนและสินค้าอื่นๆ ในจำพวกนี้ตามคำขอเลขที่ 390648 เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนดังกล่าวโดยตรงอันไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะซึ่งต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1) และมาตรา 7 วรรคสอง (2) หรือไม่ นั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังมิได้วินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนอีก
ส่วนข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ระบุรายการสินค้าในแต่ละคำขอไว้หลายรายการต้องพิจารณาเป็นแต่ละรายการไป มิใช่เหมารวมรายการสินค้าทั้งหมดไปด้วยกันเช่นนี้นั้น เห็นว่า การพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น เป็นลักษณะของการเป็นรายคำขอ มิใช่ต้องพิจารณาสินค้าแต่ละชนิดในรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียน เมื่อนายทะเบียนพบลักษณะที่ต้องห้ามมิให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าชนิดใดในรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนนั้นแล้วนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอนั้น หากโจทก์เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ต้องห้ามจดทะเบียนสำหรับสินค้าชนิดใดเพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์มิใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง โจทก์ก็ชอบที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าชนิดนั้นโดยระบุเฉพาะสินค้าชนิดนั้นในคำขอจดทะเบียนได้อยู่แล้ว
คำสั่งของนายทะเบียนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMZCREAM ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับสินค้าจำพวกที่ 3 รายการสินค้า โลชั่นใช้กับเด็กอ่อนและสินค้าอื่นๆ ในจำพวกนี้ ตามคำขอเลขที่ 390647 และที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าจำพวกที่ 16 รายการสินค้า ผ้าอ้อมทำด้วยกระดาษหรือเซลลูโลสหรือกระดาษทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัยที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดหรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อนและสินค้าอื่นๆ ในจำพวกนี้ ตามคำขอเลขที่ 390648 โดยเห็นว่าคำว่า DERMACREAM ซึ่งมีความหมายว่าครีมหรือของเหลวสำหรับผิวหนังเป็นคำที่มีความหมายเล็งถึงลักษณะของสินค้าที่ขอจดทะเบียนดังกล่าวโดยตรงอันไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6 (1) และมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 นั้นเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผลอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.