แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ใบสำคัญการรับเงินค่าชดเชยเอกสารหมายล.2 โจทก์เป็นผู้ทำและกรอกข้อความเองทั้งหมด พอตีความในเนื้อความดังกล่าวได้ว่าโจทก์มีเจตนายอมรับในการที่จำเลยเลิกจ้างและค่าชดเชยที่จำเลยเสนอให้ แม้เอกสารหมาย ล.2 ไม่มีข้อความว่าโจทก์ยอมสละสิทธิเรียกเงินไว้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ยอมทำเอกสารหมาย ล.2 ตามข้อเสนอของจำเลยย่อมตีเจตนาของโจทก์ได้ว่า โจทก์ยอมรับค่าชดเชยที่จำเลยเสนอและโจทก์ยอมสละสิทธิเรียกร้องเงินอื่นอีก และการแถลงรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานกลาง ลงวันที่ 17กรกฎาคม 2541 ซึ่งโจทก์รับว่าได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่โต้เถียงเกี่ยวกับการสละสิทธิเรียกร้องเงินอื่นใดจากจำเลยอีกตามที่จำเลยอ้าง แสดงว่าข้อกล่าวอ้างของจำเลยดังกล่าวนั้นมีจริง เมื่อโจทก์ไม่ปฏิเสธโดยชัดแจ้งต้องถือว่าโจทก์ยอมรับนั้น ศาลแรงงานได้วินิจฉัยแล้วว่าเอกสารหมาย ล.2 ไม่ปรากฏข้อความว่าโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นใดจากจำเลยทั้งสิ้นดังที่จำเลยให้การ แม้โจทก์จะแถลงรับว่าโจทก์ได้รับเงินค่าชดเชยตามที่จำเลยจ่าย 3 เดือน โดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างเดือนละ 10,224 บาท ก็ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยส่วนที่ขาดและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า อุทธรณ์จำเลยดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.พ.มาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ซึ่งบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวอนุโลมใช้กับคดีแรงงานด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ดังนี้การที่ศาลแรงงานสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความประกอบเอกสารในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับเพียงพอที่จะฟังเป็นยุติและพอวินิจฉัยได้แล้วจึงสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยคดีตามที่คู่ความรับกันถือได้ว่าศาลแรงงานได้ใช้ดุลพินิจวิเคราะห์พยานหลักฐานในการรับฟังข้อเท็จจริงคดีนี้เป็นการชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแล้ว