แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ โดยลูกจ้างดังกล่าวมิได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123(1) ถึง (5)ทั้งขณะเลิกจ้างผลประกอบการของโจทก์ก็ยังมีกำไร ส่วนเรื่องภาวะเศรษฐกิจมีผลกระทบกระเทือนต่อสถานะของโจทก์จนต้องขาดทุนและต้องปิดกิจการในอนาคต เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์เองและยังไม่แน่นอน การที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
คดีทั้งห้าสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่า จำเลยทั้งสิบสามมีคำสั่งที่ 89 – 93/2540 วินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งว่าการที่โจทก์เลิกจ้างนายมานพ นายสมพงษ์ นางลัดดา นายประวิทย์ และนายวาสิต เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้โจทก์รับนายมานพกับนายสมพงษ์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเหมือนเดิมและให้จ่ายค่าเสียหายแก่นางลัดดา นายประวิทย์ และนายวาสิต คำสั่งของจำเลยทั้งสิบสามเป็นคำสั่งที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 89 – 93/2540 ของจำเลยทั้งสิบสาม
จำเลยทั้งสิบสามทั้งห้าสำนวนให้การว่า ขณะที่โจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างนายมานพ นายสมพงษ์ นางลัดดา นายประวิทย์และนายวาสิตซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์นั้นไม่ได้เป็นการเลิกจ้างด้วยสาเหตุที่ลูกจ้างของโจทก์ดังกล่าวกระทำความผิดใด ๆ ที่จะเข้าข้อยกเว้นห้าประการที่โจทก์จะเลิกจ้างได้โดยไม่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ทั้งกิจการของโจทก์ไม่ได้ประสบภาวะขาดทุนแต่อย่างใด ลูกจ้างทั้งห้าที่โจทก์เลิกจ้างต่างเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และสหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้องฉบับลงวันที่ 2 ธันวาคม 2539 ต่อโจทก์ข้อเรียกร้องดังกล่าวตกลงกันได้ มีบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม 2540 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2540โดยไม่กำหนดอายุใช้บังคับข้อตกลงข้อตกลงจึงมีอายุใช้บังคบหนึ่งปีตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 12 โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างทั้งห้าดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม2540ลูกจ้างจึงได้รับความคุ้มครองากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างการเลิกจ้างของโจทก์ต่อลูกจ้างจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยจำเลยทั้งสิบสามได้มีคำสั่งที่ 89 – 93/2540 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2540 ให้โจทก์ปฏิบัติตาม คำสั่งดังกล่าวจึงถูกต้องตามกฎหมายและข้อเท็จจริง ไม่มีเหตุที่โจทก์จะฟ้องขอเพิกถอนขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เลิกจ้างนายมานพ นายสมพงษ์ นางลัดดานายประวิทย์ และนายวาสิต เพราะเศรษฐกิจตกต่ำลงเรื่อย ๆไม่รู้ว่าจะเริ่มขึ้นเมื่อใด มีผลกระทบกระเทือนต่อสถานะของโจทก์จนต้องขาดทุนและต้องปิดกิจการในอนาคตอันใกล้โจทก์จึงต้องปรับโครงสร้างขององค์การโดยกำหนดกฏเกณฑ์เพื่อเลิกจ้างลูกจ้างเป็นการทั่วไปโดยเสมอภาคและสุจริต มิได้กำหนดกฎเกณฑ์เพื่อกลั่นแกล้งลูกจ้างโดยเฉพาะเจาะจง แม้ลูกจ้างมิได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123กับเลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ และโจทก์ยังไม่ประสบภาวะขาดทุนก็มีเหตุอันสมควรในการเลิกจ้าง และไม่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้น เห็นว่า โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างทั้งห้าที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับโดยลูกจ้างดังกล่าวมิได้กระทำความผิดตาม มาตรา 123(1) ถึง (5) ทั้งขณะเลิกจ้างผลประกอบการของโจทก์ก็ยังมีกำไรส่วนที่โจทก์อ้างว่าภาวะเศรษฐกิจมีผลกระทบกระเทือนต่อสถานะของโจทก์จนต้องขาดทุนและต้องปิดกิจการในอนาคตก็เป็นเพียงการคาดคะเนของโจทก์เท่านั้นจะกระทบกระเทือนโจทก์ถึงขนาดต้องดำเนินการดังกล่าวหรือไม่ยังไม่แน่นอนขณะโจทก์เลิกจ้างลูกจ้างทั้งห้าจึงยังไม่มีเหตุที่โจทก์จะเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายการที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างทั้งห้าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
พิพากษายืน