แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การจ่ายค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 121 นั้น เจ้าพนักงานพิทักษืทรัพย์จะต้องพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่ของลูกหนี้และครอบครัวในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร สมควรจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด ซึ่งธรรมดาย่อมทราบได้จากการสอบสวนหรือไต่สวนลูกหนี้เจ้าหนี้โดยตรง ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งจ่ายค่าเลี้ยงชีพไปโดยสั่งในคำร้องของลูกหนี้ที่ขอให้จ่ายค่าเลี้ยงชีพนั้นเอง ไม่ได้พิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่ของลูกหนี้และครอบครัวในปัจจุบันแต่อย่างใด จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลย่อมให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาสั่งจ่ายค่างเลี้ยงชีพลูกหนี้ และครอบครัวเสียใหม่
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยชั่วคราว โจทก์ส่งเงินบำนาญของจำเลยมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้จ่ายเงินบำนาญ เพื่อการเลี้ยงชีพตามควรแก่ฐานานุรูป
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งในคำร้องของลูกหนี้ในวันนั้นเองว่า เห็นควรจ่ายให้เดือนละ ๘๐๐ บาท เงินที่ยึดมาเป็นจำนวน ๕ ปี ๘ เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๔,๐๐๐ บาท
เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาล ขอให้ยกคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเรียกเงินคืนเข้ารวมในกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้านว่า มีอำนาจการจ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพตามมาตรา ๖๗ (๑) และ ๑๒๑ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และให้เรียกเงินจำนวน ๕๔,๐๐๐ บาท คืนจากจำเลยลูกหนี้แล้วให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาสั่งจ่ายเงินเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพแก่จำเลยลูกหนี้ใหม่
ลูกหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ลูกหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๒๑ บัญญัติว่า ” ถ้าลูกหนี้เป็นข้าราชการ เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิรับเงินเดือนบำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือเงินในทำนองเดียวกันนี้ของลูกหนี้จากเจ้าหน้าที่เพื่อรวบรวมแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ได้ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้ และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป
บทบัญญัติในวรรคก่อน ให้ใช้บังคับในกรณีที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับเงินจากบุคคลหรือองค์การอื่นที่มิใช่รัฐบาลด้วย ” ศาลฎีกาเห็นว่า ในการจ่ายค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูปตามที่บัญญัติไว้มาตรา ๑๒๑ ดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่ของลูกหนี้และครอบครัวในปัจจุบันว่ามีฐานะความเป็นอยู่อย่างไร เพื่อที่จะพิจารณาต่อไปว่า ตามฐานะความเป็นอยู่ของลูกหนี้และครอบครัวในปัจจุบันนั้นสมควรจะจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้มากน้อยแค่ไหนเพียงใด ในการที่จะทราบว่าลูกหนี้และครอบครัวมีฐานะความเป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไรนี้น ตามธรรมดาย่อมทราบได้จากการสอบสวนหรือไต่สวนจากลูกหนี้ และเจ้าหนี้ได้โดยตรง แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ คงปรากฏแต่เพียงว่าเมื่อลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จ่ายค่าเลี้ยงชีพจากเงินบำนาญที่โจทก์ส่งมา จำนวน ๒๙๙,๙๑๕.๔๗ บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ด่วนสั่งในคำร้องของลูกหนี้นั้นเองว่า เห็นควรจ่ายให้เดือนละ ๘๐๐ บาท เงินที่ยึดมาเป็นจำนวน ๕ ปี ๘ เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๔,๐๐๐ บาท ดังนี้ ย่อมเห็นได้ชัดว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สั่งจ่ายค่าเลี้ยงชีพไปโดยไม่ได้พิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่ลูกหนี้ และครอบครัวในปัจจุบันว่ามีฐานะความเป็นอยู่อย่างไรในอันสมควรที่จะจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้เป็นจำนวนถึง ๕๔,๐๐๐ บาท นั้นแต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงเห็นว่าที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พิจารณาสั่งจ่ายค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัวใหม่นั้นเป็นการชอบแล้ว
พิพากษายืน