คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1424/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากความควบคุมของร้อยตำรวจโท ช.ในฐานะที่ร้อยตำรวจโทช. เป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง เมื่อจำเลยผิดสัญญาประกัน จำเลยก็ต้องรับผิดชอบต่อพนักงานสอบสวนแม้พันตำรวจโท ช. มิได้ทำการสอบสวนหรือร่วมทำการสอบสวนคดีดังกล่าว ตลอดจนมิใช่เป็นคู่สัญญาประกัน แต่พันตำรวจโท ธ. ในฐานะพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงขณะยื่นคำฟ้องก็มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ซึ่งจะต้องบังคับตามมาตรา 104 และมาตรา 118แห่งประมวลรัษฎากร แม้ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานสอบสวน จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหารวม 7 คนไปจากโจทก์ โดยสัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาทั้ง7 คน ตามกำหนดของโจทก์ ถ้าผิดสัญญาจำเลยยอมใช้เงินแก่โจทก์คนละ4,000 บาท ต่อมาจำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน28,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง7 คน โจทก์ไม่ใช่คู่สัญญาไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 28,000บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาว่าจำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 7 คน ไปจากโจทก์ ต่อมาจำเลยผิดสัญญาและจะต้องชำระเงินค่าปรับให้โจทก์เป็นเงิน 28,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าพันตำรวจโทธานีสมบูรณ์ทรัพย์ ไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนหรือหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว และไม่ได้เป็นผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าจำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากความควบคุมของร้อยตำรวจโทชำนาญ วรรลยางกูร ในฐานะที่ร้อยตำรวจโทชำนาญเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโชนง เมื่อจำเลยผิดสัญญาประกัน จำเลยก็ต้องรับผิดชอบต่อพนักงานสอบสวน แม้พันตำรวจโทธานีมิได้ทำการสอบสวนหรือร่วมทำการสอบสวนคดีดังกล่าว ตลอดจนมิใช่เป็นคู่สัญญาประกันแต่พันตำรวจโทธานีในฐานะพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงขณะยื่นคำฟ้องก็มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า สัญญาประกันเป็นสัญญาค้ำประกันที่ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ และไม่ได้รับการยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 121 โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันดังกล่าวหาได้ไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ เห็นว่า สัญญาประกันตามคำฟ้องไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ซึ่งจะต้องบังคับตามมาตรา 104และมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร แม้ไม่ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้
พิพากษายืน.

Share