คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14218/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินซึ่งเป็นรถยนต์ของบุคคลทั่วไปที่นำเข้ามาจอดในลานจอดรถของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทปล่อยให้มีผู้นำรถที่โจทก์รับประกันภัยออกไปจากลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยไม่คืนบัตรจอดรถ จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 แม้จะให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของลูกค้าผู้ใช้บริการหรือบุคคลภายนอกแต่จำเลยที่ 3 ก็ให้การว่าจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้มาดำเนินการดูแลและรักษาความปลอดภัยแก่พนักงานและทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ที่อยู่ภายในสาขานครปฐม โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ตามสัญญาจ้างที่จะต้องจัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัย อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ต้องใช้ในการรักษาความปลอดภัยในการดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 มิได้ให้การว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างบริษัท บ. ดูแลความปลอดภัยให้จำเลยที่ 3 เช่นนี้จึงแปลได้ว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยแล้ว การที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 3 มิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 แต่ว่าจ้างบริษัท บ. ดูแลรักษาความปลอดภัยให้จำเลยที่ 3 จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างบริษัท บ. จึงเป็นข้อเท็จจริงนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาท ศาลจะรับฟังมาวินิจฉัยไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 แล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัย การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 มิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทอันเป็นประเด็นข้อสำคัญในคดี ซึ่งมีผลทำให้การวินิจฉัยคดีของศาลคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่จะมุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 ต้องพึงมีตามวิสัยและพฤติการณ์ซึ่งจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่… กลับปล่อยให้มีผู้นำรถที่โจทก์รับประกันภัยออกไปจากลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยไม่รับคืนบัตรจอดรถเท่ากับว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องให้รับผิดฐานละเมิดไว้ด้วย หาได้บรรยายฟ้องให้รับผิดฐานฝากทรัพย์เท่านั้นไม่
จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ย่อมมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าตามสมควร การที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณลานจอดรถจึงเป็นการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 และลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำการดูแลรักษาความปลอดภัยแทน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ในการดูแลรักษาความปลอดภัย โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับบัตรจอดรถคืนจากผู้ขับรถ เมื่อปรากฏว่ามีผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัยออกจากลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยบัตรจอดรถยังอยู่กับ ช. และ ไม่ปรากฏว่ามีการคืนบัตรจอดรถหมายเลขทะเบียนเดียวกับรถคันที่โจทก์รับประกันภัย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติหน้าที่เรียกคืนบัตรจอดรถจากคนร้ายเป็นเหตุให้รถที่โจทก์รับประกันภัยถูกลักไป อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าตามสมควร จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425
โจทก์รับประกันภัยรถยนต์พิพาทจาก ช. ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น” ดังนี้ เมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องจากผู้ทำละเมิดได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันนำรถกระบะหมายเลขทะเบียน ปบ 3192 กรุงเทพมหานคร คืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 422,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 422,500 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 กันยายน 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยรถกระบะ หมายเลขทะเบียน ปบ 3192 กรุงเทพมหานคร จากนายชาญวุฒิ จำเลยที่ 3 ประกอบกิจการค้าขายสินค้า ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส” และจัดให้มีลานจอดรถ จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณทางออกของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2546 เวลาประมาณ 19.30 นาฬิกา นายชาญวุฒิขับรถกระบะที่โจทก์รับประกันภัยเข้าไปจอดบริเวณลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยได้รับบัตรจอดรถที่พนักงานรักษาความปลอดภัยมอบให้ที่บริเวณทางเข้า ต่อมาเวลาประมาณ 21.30 นาฬิกา นายชาญวุฒิกลับมาที่จอดรถปรากฏว่ารถกระบะที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายไป ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ในบริเวณทางออกของจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องตรวจบัตรจอดรถขณะรถยนต์ออกจากลานจอดรถ และเป็นหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ว่าจ้างบริษัทบอดี้การ์ด สแตนดาร์ด กรุ๊ป จำกัด ดูแลรักษาความปลอดภัยให้จำเลยที่ 3 เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินซึ่งเป็นรถยนต์ของบุคคลทั่วไปที่นำเข้ามาจอดในลานจอดรถของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทปล่อยให้มีผู้นำรถที่โจทก์รับประกันภัยออกไปจากลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยไม่คืนบัตรจอดรถ จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 แม้จะให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของลูกค้าผู้ใช้บริการหรือบุคคลภายนอกแต่จำเลยที่ 3 ก็ให้การว่าจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้มาดำเนินการดูแลและรักษาความปลอดภัยแก่พนักงานและทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ที่อยู่ภายในสาขานครปฐม โดยจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ตามสัญญาจ้างที่จะต้องจัดหาพนักงานรักษาความปลอดภัย อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ต้องใช้ในการรักษาความปลอดภัยในการดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 มิได้ให้การว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างบริษัทบอดี้การ์ด สแตนดาร์ด กรุ๊ป จำกัด ดูแลความปลอดภัยให้จำเลยที่ 3 เช่นนี้จึงแปลได้ว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยแล้ว การที่จำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 3 มิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 แต่ว่าจ้างบริษัทบอดี้การ์ด สแตนดาร์ด กรุ๊ป จำกัด ดูแลรักษาความปลอดภัยให้จำเลยที่ 3 จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างบริษัทบอดี้การ์ด สแตนดาร์ด กรุ๊ป จำกัด จึงเป็นข้อเท็จจริงนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาท ศาลจะรับฟัง มาวินิจฉัยไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ไม่ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 แล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังเป็นยุติตามคำให้การของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้ดูแลรักษาความปลอดภัย การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 มิได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานนอกข้อต่อสู้ในคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทอันเป็นประเด็นข้อสำคัญในคดี ซึ่งมีผลทำให้การวินิจฉัยคดีของศาลคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง จึงเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่ จะมุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะไม่ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์โจทก์ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัย เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำวินิจฉัยก่อน และเห็นว่าคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 ต้องพึงมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ซึ่งจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่… กลับปล่อยให้มีผู้นำรถที่โจทก์รับประกันภัยออกไปจากลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยไม่รับคืนบัตรจอดรถเท่ากับว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องให้รับผิดฐานละเมิดไว้ด้วยหาได้บรรยายฟ้องให้รับผิดฐานฝากทรัพย์เท่านั้นไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ย่อมมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าตามสมควร การที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณลานจอดรถจึงเป็นการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 และลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำการดูแลรักษาความปลอดภัยแทน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ในการดูแลรักษาความปลอดภัย โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับบัตรจอดรถคืนจากผู้ขับรถ เมื่อปรากฏว่ามีผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัยออกจากลานจอดรถของจำเลยที่ 3 โดยบัตรจอดรถยังอยู่กับนายชาญวุฒิ และไม่ปรากฏว่ามีการคืนบัตรจอดรถหมายเลขทะเบียนเดียวกับรถคันที่โจทก์รับประกันภัย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติหน้าที่เรียกคืนบัตรจอดรถจากคนร้ายเป็นเหตุให้รถที่โจทก์รับประกันภัยถูกลักไป อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าตามสมควร จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425
โจทก์รับประกันภัยรถยนต์พิพาทจากนายชาญวุฒิซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น” ดังนี้ เมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องจากผู้ทำละเมิดได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อรถที่โจทก์รับประกันภัยเป็นรถใหม่ใช้งานไม่ถึงหนึ่งปี มีราคาเช่าซื้อไม่รวมผลประโยชน์เป็นเงิน 535,000 บาท ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถสูญหาย 400,000 บาท เต็มตามทุนประกันภัยแก่โจทก์เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share