คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1418/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าจำเลยที่ 2 ทำหนังสือตกลงรับชำระหนี้รายนี้และใช้หนี้นั้นไป 3 งวด และขอลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการกระทำภายในวัตถุประสงค์ที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดรับโอนกิจการของจำเลยที่ 1 มาทำ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดโดยการ แปลงหนี้ใหม่ ซึ่งศาลตีความในเอกสารประกอบพฤติการณ์แห่งคดีทั้งมวลโดยเพ่งเล็งเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าตัวอักษร

ย่อยาว

จำเลยที่ 1 ทำห้องเย็นเพื่อการประมง จำเลยที่ 2 เป็นบริษัทมีวัตถุประสงค์รับโอนกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้หนี้ค่ากระแสไฟฟ้าแก่โจทก์ 520,899.70บาท ให้จำเลยที่ 1, 2, 3 ชำระค่ากระแสไฟฟ้าจำนวนหลัง 429,966.70 บาทกับดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “เห็นควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยตามลำดับดังนี้ จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชำระหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าจำนวน 734,327 บาท38 สตางค์แก่โจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมจำเลยที่ 1 ได้ติดค้างชำระค่ากระแสไฟฟ้าตามจำนวนดังกล่าวต่อโจทก์อยู่ จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ที่จะรับโอนกิจการจากจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ทวงถามให้ชำระค่ากระแสไฟฟ้าพร้อมกับแจ้งให้ทราบว่า หากไม่ชำระโจทก์จะตัดกระแสไฟฟ้าไม่ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ใช้ต่อไปจำเลยที่ 2 จึงตกลงชำระหนี้รายนี้แก่โจทก์ปรากฏตามหนังสือเอกสารหมาย จ.2 และต่อมาหลังจากมีการทำเอกสารดังกล่าวนี้แล้ว จำเลยที่ 2 ได้นำเงินตามสัญญามาชำระหนี้แก่โจทก์รวม 3 งวด ปรากฏรายละเอียดตามเอกสาร จ.44, จ.45 อีกทั้งจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือถึงโจทก์ขอให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละสิบสองต่อปี ปรากฏตามเอกสาร จ.52 ดังนี้เห็นได้ชัดว่า จำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าผูกพันชำระหนี้จำนวนนี้ และเป็นการกระทำภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 2 ที่จะโอนกิจการของจำเลยที่ 1 มาดำเนินการ จึงก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในลักษณะแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่ายังไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ เพราะหนี้เดิมไม่ระงับ โจทก์ก็มีเจตนาให้หนี้เดิมยังไม่ระงับ โดยถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามหนังสือทวงถามเอกสาร จ.53 และโจทก์ยังฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ตามเอกสาร จ.2 ด้วยนั้น เห็นว่า ก่อนที่ศาลวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นการแปลงหนี้ใหม่ และหนี้เดิมระงับหรือไม่ โจทก์ไม่อาจทราบได้ว่าการณ์เป็นดังกล่าวเพราะไม่มีคำพิพากษาชี้ขาดไว้ โจทก์จึงต้องทวงถามและฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ทั้งสองคน มิใช่โจทก์มีเจตนาให้หนี้เดิมยังไม่ระงับ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาผูกพันตามเอกสาร จ.2 และจำเลยที่ 2 แจ้งให้โจทก์แล้วนั้น จำเลยก็เบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน หนี้ค่ากระแสไฟฟ้าตามเอกสาร จ.2 มีจำนวนเกือบ1 ล้านบาท ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องการรับผิดก็ไม่ควรทำเอกสาร จ.2 ให้โจทก์ไว้และที่ศาลได้พิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีทั้งมวล แล้วฟังว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาผูกพันตนตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นการตีความโดยเพ่งเล็งเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษรแล้ว และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เอกสาร จ.2 มีเงื่อนไขบังคับหลังว่าจำเลยที่ 2 จะเข้าดำเนินกิจการแทนจำเลยที่ 1และให้ถือเอาหนี้ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการชำระราคาตามสัญญาซื้อขายเมื่อข้อตกลงดังกล่าวไม่มีผลและไม่มีการซื้อขายกัน จำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้าดำเนินกิจการถือว่าเอกสาร จ.2 ไม่มีผลบังคับนั้น เห็นว่าตามพยานหลักฐานของจำเลยข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ดังฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าเอกสาร จ.2 มีเงื่อนไขอย่างใด

ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาขอรับผิดเสียดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนหนี้ 425,966 บาท 72 สตางค์ ไม่ใช่เสียในอัตราร้อยละสิบสองต่อปีนั้น ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ เพราะเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ถูกต้องเพราะเหตุใด เมื่อเป็นดังนี้ศาลฎีกาก็รับวินิจฉัยให้ไม่ได้เพราะไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ และที่จำเลยฎีกาว่าขอให้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นเป็นพับนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดให้ฝ่ายจำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ชอบแล้วไม่ควรแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 4,000 บาทแทนโจทก์”

Share