คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1274/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าพินัยกรรมของ อ. ซึ่งยกทรัพย์มรดกให้จำเลยเป็นพินัยกรรมปลอมให้จำเลยแบ่งมรดกของ อ. ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ปรากฏว่าอีกคดีหนึ่งซึ่งจำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ตามพินัยกรรม และโจทก์คัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมปลอมนั้น คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างว่า มิใช่พินัยกรรมปลอม คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความในคดีนี้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ดังนั้น ในคดีนี้โจทก์จะกล่าวอ้างว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมปลอมหาได้ไม่
แม้พินัยกรรมจะมิได้ลงชื่อผู้พิมพ์พินัยกรรมตามมาตรา 1671 ก็ตาม หาก อ. ผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้จัดพิมพ์พินัยกรรมเองก็ไม่จำต้องลงชื่อระบุว่า เป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมตามมาตรา ดังกล่าว ทั้งพินัยกรรมที่มิได้ลงชื่อผู้พิมพ์ก็หาทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะไม่ เพราะมาตรา 1705 หาได้บัญญัติให้พินัยกรรมที่ทำไม่ถูกต้องตามมาตรา 1671 เป็นโมฆะด้วยไม่
แม้พินัยกรรมจะมิได้ลงชื่อผู้พิมพ์พินัยกรรมตามมาตรา 1671 ก็ตาม หาก อ. ผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้จัดพิมพ์พินัยกรรมเองก็ไม่จำต้องลงชื่อระบุว่าเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมตามมาตราดังกล่าว ทั้งพินัยกรรมที่มิได้ลงชื่อผู้พิมพ์ก็หาทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะไม่ เพราะมาตรา 1705 หาได้บัญญัติให้พินัยกรรมที่ทำไม่ถูกต้องตามมาตรา 1671 เป็นโมฆะด้วยไม่
คดีมีประเด็นว่า พินัยกรรมตามที่จำเลยอ้างเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ไม่มีข้อเท็จจริงโต้เถียงกันว่า จำเลยเป็นผู้เขียนหรือผู้พิมพ์พินัยกรรมหรือไม่แต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความมิได้นำสืบ และมิใช่ประเด็นแห่งคดี โดยฟังว่าจำเลยเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรม แล้วนำมาวินิจฉัยปรับเป็นข้อกฎหมายว่าจำเลยต้องห้ามมิให้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม พินัยกรรมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1653, 1705 ย่อมเป็นการชี้ขาดตัดสินคดีนอกฟ้องนอกประเด็น แม้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ก็จะต้องเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงในการดำเนินการกระบวนพิจารณาโดยชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของพลอากาศตรีหลวงอิศรางกูรเสนีย์ และนางประยงค์ ซึ่งต่อมาบิดามารดาโจทก์เลิกร้างกัน และบิดาโจทก์ได้สมรสกับจำเลย ขณะบิดาโจทก์ตายมีทรัพย์มรดกตกได้แก่โจทก์และจำเลยคนละครึ่ง แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งให้อ้างว่าบิดาโจทก์ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้จำเลยแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาว่าพินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นพินัยกรรมปลอม ให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า บิดาโจทก์ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้จำเลยจริง ไม่ใช่พินัยกรรมปลอม จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ศาลแพ่งวินิจฉัยว่าเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์และตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าฝ่ายโจทก์และวินิจฉัยต่อไปว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๙๘๓๒/๒๕๑๘ ของศาลแพ่งซึ่งจำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของพลตรีหลวงอิศรางกูรเสนีย์ตามพินัยกรรมและโจทก์ได้คัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมปลอมนั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยต้องกันว่าพลอากาศตรีหลวงอิศรางกูรเสนีย์และจำเลยได้ทำพินัยกรรมร่วมกันจริงมิใช่พินัยกรรมปลอม และตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก บัดนี้คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๗๓/๒๕๒๐ ระหว่างนางอิศรางกูรเสนีย์ (จินดา อิศรางกูร) ผู้ร้อง นางสมานศรี พลางกูร ผู้คัดค้าน คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความในคดีนี้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ ฉะนั้น โจทก์จะกล่าวอ้างว่าพินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นพินัยกรรมปลอมหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังว่าพลอากาศตรีหลวงอิศรางกูรเสนีย์ และจำเลยได้ทำพินัยกรรมร่วมกันตามเอกสารหมาย ล.๗ หรือ จ.๒ จริง
ส่วนปัญหาตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า แม้พินัยกรรมจะได้ทำขึ้นจริง พินัยกรรมก็ไม่มีชื่อผู้เขียนหรือผู้พิมพ์อันเป็นรูปแบบของพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๗๑ และเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมเอง จึงต้องห้ามมิให้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม และพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๖๕๓, ๑๗๐๕ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้พินัยกรรมเอกสารหมาย ล. ๗ หรือ จ. ๒ จะมิได้ลงชื่อผู้พิมพ์พินัยกรรมตามมาตรา ๑๖๗๑ ก็ตาม หากพลอากาศตรีหลวงอิศรางกูรเสนีย์ผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้จัดพิมพ์พินัยกรรมเอง ก็ไม่จำเป็นจะต้องลงชื่อระบุว่าเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งพินัยกรรมที่มิได้ลงชื่อผู้พิมพ์ก็หาทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะไม่ เพราะมาตรา ๑๗๐๕ ที่บัญญัติให้พินัยกรรมที่ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตราต่าง ๆ เป็นโมฆะนั้น หาได้บัญญัติให้พินัยกรรมที่ทำไม่ถูกต้องตามมาตรา ๑๖๗๑ เป็นโมฆะด้วยไม่ คดีนี้ประเด็นมีว่าพินัยกรรมตามที่จำเลยอ้างเป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ ไม่มีข้อเท็จจริงโต้เถียงกันว่าจำเลยเป็นผู้เขียนหรือผู้พิมพ์พินัยกรรมหรือไม่แต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความมิได้นำสืบและมิใช่ประเด็นแห่งคดี โดยฟังว่าจำเลยเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรมปลอม แล้วนำมาวินิจฉัยปรับเป็นข้อกฎหมายว่า จำเลยเป็นผู้พิมพ์พินัยกรรม ต้องห้ามมิให้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม และพินัยกรรมตกเป็นโมฆะตามมาตรา ๑๖๕๓ ๑๗๐๕ นั้น ย่อมเป็นการชี้ขาดตัดสินคดีนอกฟ้องนอกประเด็น แม้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลอาจยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีไปได้โดยไม่ต้องมีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้าง ก็จะต้องเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อฟังว่าพลอากาศตรีหลวงอิศรางกูรเสนีย์ได้ทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ล. ๗ หรือ จ. ๒ ซึ่งเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายทรัพย์มรดกส่วนของตนทั้งหมดให้แก่จำเลยแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมจึงถูกตัดมิให้รับมรดก ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งมรดกจากจำเลยได้
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share