คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1059/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่ ท. มารดาโจทก์และ ท. ได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ต่อมา ท.ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ แม้การซื้อขายที่ดินระหว่าง ท.กับจำเลยที่ 1 และการที่ ท.ยกที่ดินพิพาทต่อให้โจทก์จะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่โจทก์ก็ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสืบต่อจาก ท.เป็นเวลากว่า20 ปี โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร ตามพฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกระทำการโดยไม่สุจริตเป็นทางให้โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเสียเปรียบ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 จำเลยที่ 2 ซึ่งได้มาโดยไม่มีค่าตอบแทน และโดยไม่สุจริต ไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท
โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยครอบครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1382 การที่โจทก์จะมีชื่อในโฉนดที่ดินได้อย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 78 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2497) ซึ่งโจทก์สามารถที่จะปฏิบัติตาม และได้รับผลตามความประสงค์ของโจทก์อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยคำสั่งศาลให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ศาลฎีกายกคำขอในส่วนนี้

Share