แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน “…กันคดีขาดอายุความเพื่อจะนำเรื่องไปดำเนินการเอง…” นั้น เป็นการแจ้งความเพื่อป้องกันคดีขาดอายุความอย่างเดียว มิได้มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลย ถือไม่ได้ว่าคำแจ้งความดังกล่าวเป็นคำร้องทุกข์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพัฒนา จำกัด สาขาประตูน้ำลงวันที่ 20 ตุลาคม 2519 จำนวนเงิน 500,000 บาท ชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ 20 ตุลาคม 2519 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า คำแจ้งความของโจทก์มิใช่คำร้องทุกข์ตามกฎหมาย โจทก์ทราบเรื่องธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2519 โจทก์มาฟ้องเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2521 คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศ. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์แจ้งวัตถุประสงค์ในการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน” กันคดีขาดอายุความ เพื่อจะนำเรื่องไปดำเนินการเอง” เห็นได้ว่าความมุ่งหมายของการแจ้งความก็เพื่อป้องกันคดีขาดอายุความอย่างเดียว มิได้มีเจตนาให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลย ถือไม่ได้ว่าคำแจ้งความดังกล่าวเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) ความผิดคดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด โดยมิได้ร้องทุกข์ตามกฎหมายคดีโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษายืน