คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1414/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ระบุให้ อ.มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกเป็นคดีนี้เท่านั้น การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 2 แม้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้ามาในคดีเดียวกันและหนังสือมอบอำนาจมิได้ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 แทนโจทก์ด้วยก็ตาม ก็หามีผลทำให้การมอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ของโจทก์ที่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องเสียไปไม่
ปัญหาว่าฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลจะต้องพิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์เป็นหลักว่าคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นและคำขอบังคับ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง แล้วหรือไม่ หาใช่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ไม่
ส่วนปัญหาว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากที่อ้างในคำฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาที่ศาลจะต้องวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์นำสืบข้อเท็จจริงได้สมกับที่อ้างในคำฟ้องหรือไม่เพื่อวินิจฉัยข้อแพ้ชนะในประเด็นข้อพิพาทนั้นต่อไป
ในประเด็นที่ว่าสัญญาโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางและเป็นการโอนสิทธิโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2และไม่มีค่าตอบแทนจึงตกเป็นโมฆะ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่จำเลยที่ 1ยกขึ้นอุทธรณ์หรือไม่นั้น ปัญหาดังกล่าวศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและจำเลยที่ 1 ก็มิได้คัดค้านโดยให้ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ติดใจในประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์มาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ส่วนข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท ดังนี้ข้อที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แล้ว
ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันโอนที่ดินพิพาทโดยฉ้อฉลโจทก์หรือไม่นั้น ย่อมรวมถึงประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่อยู่ในตัว เพราะก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ได้นั้น ศาลจะต้องวินิจฉัยปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่อันเป็นประเด็นที่ปรากฏอยู่ในคำฟ้องและคำให้การจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเสียก่อนหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์แล้ว โจทก์ก็ไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ.มาตรา 237 ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยฉ้อฉลโจทก์หรือไม่เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดีแล้วนั่นเอง การที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
เมื่อคดีมีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทต่อโจทก์หรือไม่รวมอยู่ด้วยแล้ว และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังกล่าว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นการละเมิดทำให้โจทก์เสียหาย ก็เป็นเพียงความเข้าใจผิดของโจทก์ที่เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เท่านั้น คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพียงใด และแม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบถึงค่าเสียหายได้ตามจำนวนที่ปรากฏในคำฟ้อง แต่ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่เห็นสมควรได้

Share