แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้พยานโจทก์มีตัวโจทก์เพียงปากเดียวเบิกความยืนยันว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารสัญญากู้ก็มีน้ำหนักและเหตุผลน่าเชื่อว่าพยานจำเลยซึ่งเบิกความขัดต่อเหตุผลและเป็นการผิดวิสัยส่วนที่จำเลยอ้างว่าได้ชำระเงินกู้ให้แก่โจทก์แล้วโดยโจทก์ทำหลักฐานให้ไว้ก็เห็นว่าเอกสารดังกล่าวไม่มีข้อความระบุว่าเป็นเงินอะไรทั้งไม่มีลายมือชื่อของโจทก์ในเอกสารนั้นแม้โจทก์ยอมรับว่าได้ทำเอกสารดังกล่าวจริงแต่ก็ปฏิเสธว่าเป็นการชำระหนี้รายอื่นเอกสารนั้นจึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา653วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า วันที่ 27 พฤศจิกายน 2533จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 100,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยตามกฎหมายแต่โจทก์ขอคิดเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี กำหนดชำระคืนวันที่ 27 มีนาคม2534 นับแต่จำเลยกู้เงินไป ไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์เป็นเวลานาน 3 ปี 11 เดือน คิดเป็นดอกเบี้ย 29,375 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย 129,375 บาท ขอให้จำเลยชำระเงิน 129,375 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ตามฟ้อง สัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอม ความจริงจำเลยกู้เงินจากโจทก์เพียง50,000 บาท โจทก์ให้จำเลยลงชื่อในสัญญากู้ที่ยังไม่ได้มีการกรอกข้อความ โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน จำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้โจทก์ตลอดมา ยังคงค้างชำระเพียง 14,000 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 129,375 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์และให้ดอกเบี้ยไปตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยจะต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้ให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ในปัญหาแรกนอกจากโจทก์จะมีตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปจำนวน 100,000 บาท ให้ดอกเบี้ยตามกฎหมายแล้ว โจทก์ยังมีสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งจำเลยยอมรับว่าจำเลยได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้กู้มานำสืบแสดงมีข้อความชัดแจงว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไป 100,000 บาท ให้ดอกเบี้ยตามกฎหมายจำเลยจะชำระเงินต้นคืนภายในวันที่ 27 มีนาคม 2534 ในเบื้องต้นจึงฟังได้ว่าจำเลยได้กู้เงินไปตามสัญญาดังกล่าว ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เพียง 50,000 บาท และรับเงินจากโจทก์เพียง 50,000บาท โจทก์กรอกข้อความในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 จำนวนเงิน100,000 บาท โดยจำเลยไม่รู้เห็นยินยอม สัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.1จึงเป็นเอกสารปลอมนั้น จำเลยมีนางนุสรีย์ซึ่งลงชื่อเป็นพยานในเอกสารหมาย จ.1 และนายฟูศักดิ์สามีนางนุสรีย์ซึ่งเป็นผู้เขียนสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 มาเบิกความสนับสนุน โดยนางนุสรีย์เบิกความว่า ได้ลงชื่อพยานจริงแต่ขณะลงชื่อสัญญากู้ตามเอกสารหมายจ.1 ยังไม่ได้กรอกข้อความ ส่วนนายฟูศักดิ์เบิกความว่าเมื่อต้นปี 2535 ได้ไปขอกู้เงินจากโจทก์ โจทก์ให้พยานกรอกข้อความในสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมีลายมือชื่อของจำเลยและนางนุสรีย์ภริยาของพยานลงชื่อไว้ก่อนแล้ว ดังนี้ เห็นว่า คำเบิกความของพยานทั้งสองดังกล่าวขัดต่อเหตุผล เพราะถ้านายฟูศักดิ์ไม่รู้เห็นการกู้ยืมเงินรายนี้ แต่กรอกข้อความว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ 100,000บาท ย่อมจะทำให้จำเลยซึ่งเป็นน้องสะใภ้ของตนได้รับความเสียหายได้ส่วนจำเลยและนางนุสรีย์ลงชื่อในเอกสารหมาย จ.1 ขณะที่ไม่มีการกรอกข้อความนั้นก็ยิ่งเป็นการผิดวิสัยเพราะไม่มีความจำเป็นอย่างไรที่จำเลยและนางนุสรีย์จะลงลายมือชื่อในเอกสารที่ไม่กรอกข้อความเพราะอาจเกิดผลร้ายได้ ส่วนโจทก์แม้จะมีตัวโจทก์เพียงปากเดียวเบิกความยืนยันว่า นายฟูศักดิ์เป็นผู้เขียนข้อความในเอกสารหมายจ.1 จำเลยลงชื่อในฐานะเป็นผู้กู้ ส่วนนางนุสรีย์ลงชื่อในฐานะพยาน และจำเลยรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 100,000 บาท ในวันทำสัญญามีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไป 100,000 บาท ได้ดอกเบี้ยตามกฎหมาย ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ใช่เอกสารปลอม
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยชำระเงินกู้ให้แก่โจทก์แล้วเป็นเงิน36,000 บาท โจทก์ทำหลักฐานให้ไว้ตามเอกสารหมาย ล.2 นั้นพิจารณาเอกสารหมาย ล.2 แล้ว เห็นว่าไม่มีข้อความระบุว่าเป็นเงินอะไรทั้งไม่มีลายมือชื่อของโจทก์ในเอกสารดังกล่าว แม้โจทก์จะยอมรับว่าได้ทำเอกสารหมาย ล.2 จริง แต่โจทก์ก็ปฏิเสธว่าเป็นการชำระหนี้รายอื่น ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวก็ระบุว่ามีการนำโฉนดของนางประจวบค้ำประกันต่างกับสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ที่ระบุว่านำ น.ส.3 ก.หมายเลข 502511 แผ่นที่ 86 เลขที่ดิน 151 อำเภอหัวไทรจังหวัดนครศรีธรรมราช มาให้โจทก์ยึดถือค้ำประกันที่โจทก์อ้างจึงน่าเชื่อถือ ดังนี้ เอกสารหมาย ล.2 จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการใช้เงินตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 653 วรรคสอง ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์แล้วเป็นเงิน 36,000 บาท เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ฟังได้ว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์ไปตามฟ้อง และจำเลยยังไม่ได้ชำระเงินกู้ให้โจทก์จำเลยต้องรับผิดชำระเงินกู้ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน