คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5002/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจการค้า การประกอบธุรกิจดังกล่าวจึงต้องมีการซื้อขายและต้องมีเงินทุนในการดำเนินกิจการ การกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องการประกอบธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 1 นั่นเอง หาใช่เป็นการกระทำนอกเหนือวัตถุประสงค์อย่างใดไม่ การที่จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
หลังจากจำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้ว จำเลยที่ 2 ยังคงแสดงตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญารับมอบสินค้าเชื่อกับโจทก์รวมทั้งดำเนินการขายลดเช็คแก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดหรือให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 สัญญาที่จำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์จึงมีผลใช้บังคับได้
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนดในวันที่ 19 เมษายน 2523 แต่เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 ก็ยังเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์มิได้บอกเลิก พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่ออายุสัญญาออกไปโดยไม่มีกำหนดเวลา สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงยังมีอยู่ ดังนั้น โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อมาได้ ภายหลังโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ซึ่งครบกำหนดวันที่ 5 กันยายน 2526 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันหักทอนบัญชีนับแต่นั้น โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 8,805,210.17 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 3,359,060.46 บาท ในอัตราร้อยละ11 ต่อปี จากต้นเงิน 248,320.22 บาท ในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปี จากต้นเงิน 277,711บาท ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงิน 233,401.50 บาท ในอัตราร้อยละ 13 ต่อปีจากต้นเงิน 617,603.36 บาท และในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 27,987 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 ไถ่ถอนจำนองและชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 5,964,593.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 3,359,060.46 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 27,987 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 6และที่ 7 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระหนี้จำนวน 2,840,617.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11 ต่อปี จากต้นเงิน 243,320.22 บาท ในอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปีจากต้นเงิน 277,711 บาท ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงิน 233,401.50 บาท และในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี จากต้นเงิน 617,603.36 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งเจ็ดออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ร่วมกับบุคคลภายนอกฉ้อฉลให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 สำคัญผิดว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงเข้าทำสัญญากับโจทก์ และจำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินมูลหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เพราะสัญญามีกำหนดเวลาแน่นอนและไม่มีสิทธิเรียกให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างเกินกว่า 5 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง ยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 1,391,694.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 15 มกราคม 2523 ถึงวันที่ 5 กันยายน 2526 และดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กันยายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คจำนวน 1,074,082.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่25 กันยายน 2525 ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2529 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระหนี้ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อจำนวน 248,320.22 บาท, 277,711บาท, 233,401.50 บาท และ 617,603.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11,11.5, 12 และ 13 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวตามลำดับ นับแต่วันที่ 25 กันยายน2525 จนกว่าจะชำระเสร็จและชำระเงินจำนวน 35,307.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 27,987 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 25กันยายน 2530) จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ชำระเงินจำนวน 2,100,000 บาท และ 1,400,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 6และที่ 7 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 กันยายน 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 726 ตำบลสัมพันธวงศ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ถ้าไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งเจ็ดมาชำระหนี้ตามจำนวนที่จำเลยแต่ละคนจะต้องร่วมรับผิดจนครบ คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาข้อที่สองมีว่า การกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 สมบูรณ์หรือไม่ จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน ดังนั้นการกู้ยืมเงินของจำเลยที่ 1 จึงไม่สมบูรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจการค้า การประกอบธุรกิจดังกล่าวจึงต้องมีการซื้อขายและต้องมีเงินทุนในการดำเนินกิจการ การกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องการประกอบธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 1 นั่นเอง หาใช่ เป็นการกระทำนอกเหนือวัตถุประสงค์อย่างใดไม่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ที่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า หลังจากจำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ยังแสดงตนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญารับมอบสินค้าเชื่อกับโจทก์รวมทั้งดำเนินการขายลดเช็คแก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เชิดหรือให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 สัญญาที่จำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์จึงมีผลใช้บังคับได้เช่นกัน

ปัญหาข้อที่สามมีว่า โจทก์ได้ส่งคำบอกกล่าวบังคับจำนองให้จำเลยที่ 4 และที่ 5ทราบในระยะเวลาอันควรหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ จำเลยที่ 4 และที่ 5 มิได้ให้การไว้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาข้อที่สี่มีว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีถูกต้องหรือไม่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ฎีกาว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน2523 หาใช่วันที่ 5 กันยายน 2526 ไม่ โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยได้เพียงวันที่ 19 เมษายน 2523 เท่านั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่ 5 กันยายน 2526จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้เห็นว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.294, จ.295และ จ.297 ครบกำหนดในวันที่ 19 เมษายน 253 แต่เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 1ก็ยังเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ต่อไป และโจทก์มิได้บอกเลิก พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่ออายุสัญญาออกไปโดยไม่มีกำหนดเวลา สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงยังมีอยู่ ดังนั้น โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นต่อมาได้ ภายหลังโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ซึ่งครบกำหนดวันที่ 5 กันยายน 2526 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันหักทอนบัญชีนับแต่นั้น โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คิดดอกเบี้ยทบต้นให้แก่โจทก์ถึงวันที่ 5 กันยายน 2526 จึงชอบแล้วและหลังจากนั้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยได้อย่างธรรมดาไม่ทบต้น ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่ 25กันยายน 2530 อันเป็นวันฟ้องจึงไม่เกิน 5 ปี ดังที่จำเลยฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 4 และที่ 5ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น…”

พิพากษายืน

Share