แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของเจ้ามรดกเพื่อให้จำเลยไถ่ถอนการจำนอง แม้สิทธิของโจทก์จะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรค 3 แล้วก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 189 ยังยอมให้โจทก์ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับจากทรัพย์สินที่จำนองได้ ดังนี้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของเจ้ามรดกเป็นจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ให้โจทก์จากทรัพย์สินที่จำนองได้
หนี้จำนองที่เป็นหนี้ร่วม โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 จำเลยจะอ้างว่าหนี้จำนองรายนี้ซึ่งเป็นหนี้ร่วม โจทก์จะต้องฟ้องบังคับจำนองร่วมกันไปคราวเดียวกันดังนี้ย่อมไม่ได้
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๐๒ นายทองดีนางทองเยื้อนบิดามารดาจำเลยได้จำนองที่ดินโฉนดที่ ๘๖๔๗ ให้โจทก์ไว้เพื่อประกันหนี้จำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยชั่งละ ๑ บาทต่อเดือน ต่อมา ๓ วัน นางทองเยื้อนได้ตาย นายทองดีกับจำเลยที่ ๕ ได้รับมรดกที่ดินดังกล่าว โจทก์ขอให้นายทองดีและจำเลยไถ่ถอน นายทองดีได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนทั้งหมดให้แก่นางสาวสำลีบุตรโจทก์ หลังจากจำนองได้ประมาณ ๑ ปี โจทก์ได้รับปืนลูกซองราคา ๒,๐๐๐ บาท ของนายทองดีและนางทองเยื้อน โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยและนางสาวสำลีไถ่จำนอง นางสาวสำลียินดีทำการไถ่แต่จำเลยไม่ยอมไถ่ถอน หนี้จำนองรายนี้เมื่อแบ่งเอาส่วนของนางสาวสำลีออกแล้ว จำเลยทั้ง ๕ คงเป็นหนี้จำนอง ๘,๓๓๓.๓๕ บาท กับดอกเบี้ย ๕ ปี เป็นเงิน ๖,๒๕๐ บาท เมื่อหักเงินค่าปืนที่เป็นส่วนของจำเลย ๘๓๓.๓๔ บาทออกแล้ว จะเหลือดอกเบี้ยส่วนของจำเลย ๕,๔๑๖.๖๖ บาท โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยไถ่ถอน จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยร่วมกันนำเงิน ๘,๓๓๓.๓๕ บาท ดอกเบี้ย ๕,๔๑๖.๖๖ บาท รวมเป็นเงิน ๑๓,๗๕๐ บาท ชำระให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราชั่งละ ๑ บาทต่อเดือน ในต้นเงิน ๘,๓๓๓.๓๕ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะทำการไถ่ กับค่าธรรมเนียมค่าทนาย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า นายทองดีขายที่ดินเฉพาะส่วนให้นางสาวสำลีบุตรโจทก์นั้น นายทองดีได้เอาเงินจำนวนนี้ชำระหนี้จำนองแทนจำเลยไปหมดสิ้นแล้ว ต่อมานายทองดีนางแล่มไม่ถูกกัน จำเลยอยู่กับนางแล่ม นายทองดีก็พลอยเกลียดจำเลยไปด้วย หนี้รายนี้นายทองดีกับโจทก์ร่วมกันทำอุบายมาฟ้องเพื่อที่จะเอาเงินจากจำเลยไปให้นายทองดีนั่นเอง โจทก์ทราบว่านางทองเยื้อนตายมาหลายปีแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นความจริง ไม่ขอต่อสู้แต่ประการใด จำเลยไม่มีเงินจะไถ่ถอน ขอให้ที่ดินส่วนของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ หลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์
ในวันชี้สองสถาน จำเลยแถลงรับว่าเป็นบุตรของนายทองดีและนางทองเยื้อน นายทองดีนางทองเยื้อนเป็นลูกหนี้จำนองของโจทก์ นางทองเยื้อนตายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ จำเลยเป็นทายาทของนางทองเยื้อน ได้รับมรดกของนางทองเยื้อนแล้ว รวมทั้งนาจำนองคดีนี้ด้วย จำเลยรับมรดกมา ๓ ปีเศษแล้ว และได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้วแต่ไม่มีหนังสือแสดงการชำระหนี้และมิได้สลักหลังหนังสือหลักฐานการเป็นหนี้ โจทก์ปฏิเสธว่าจำเลยยังไม่ชำระหนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนองและดอกเบี้ยค้างชำระรวม ๑๓,๗๕๐ บาทแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปีในต้นเงิน ๘,๓๓๓.๓๕ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยในข้อที่ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จะขาดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ วรรค ๓ แล้วก็ตาม แต่มาตรา ๑๘๙ ยังยอมให้โจทก์ผู้รับจำนองใช้สิทธิบังคับจากทรัพย์สินที่จำนองได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้ง ๕ ในฐานะทายาทของนางทองเยื้อนเจ้ามรดกเป็นจำเลย เพื่อบังคับชำระหนี้ให้โจทก์จากทรัพย์สินที่จำนองได้ ที่จำเลยฎีกาว่าหนี้จำนองรายนี้เป็นหนี้ร่วม โจทก์จะต้องฟ้องบังคับจำนองร่วมกันไปคราวเดียวกัน การจำนองส่วนของนายทองดียังไม่ไถ่ถอนจำนอง นายทองดีจะขายที่ดินส่วนของตนให้แก่นางสาวสำลีบุตรโจทก์ได้อย่างไร โจทก์จะละเว้นไม่ฟ้องนายทองดีหาได้ไม่ และโจทก์ควรฟ้องนายทองดีผู้เดียว ศาลฎีกาเห็นว่า หนี้รายนี้เป็นหนี้ร่วม เจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือกดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๙๑ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงฟ้องเรียกชำระหนี้โดยส่วนจากจำเลยในฐานะเป็นทายาทของนางทองเยื้อนลูกหนี้ได้โดยไม่ต้องฟ้องนายทองดีเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยและโจทก์ยังไม่ได้ฟ้องนายทองดีก็ได้ และจะกล่าวหาว่าโจทก์มีเจตนาไม่สุจริต สมยอมกับนายทองดีไม่ได้ พิพากษายืน