แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์นำเช็คเงินสดจำนวน 2,000,000บาท ซึ่งต่อมาภายหลังได้มีการเรียกเก็บเงินแล้วไปที่บริษัทจำเลย พนักงานของจำเลยได้รับฝากเงินจำนวนดังกล่าวแล้วดำเนินการออกเช็คพิพาท ซึ่ง พ.กับง.กรรมการของบริษัทจำเลยร่วมกันลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายพร้อมกับแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยรับฝากเงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และโจทก์ได้รับของขวัญและของที่ระลึกต่าง ๆมีชื่อบริษัทจำเลยพร้อมตราประทับจากบริษัทจำเลย ทั้งจำเลยเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาและเพื่อการเคหะ จำเลยสามารถกู้ยืมเงินและรับเงินจากประชาชนโดยตกลงจ่ายดอกเบี้ยไม่เกินอัตราตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยอันเป็นวิธีการจัดหามาซึ่งเงินทุนของจำเลย พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตหลงเข้าใจได้ว่าการรับฝากเงินเป็นกิจการของจำเลยและอยู่ในวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยรับฝากเงินและรู้เห็นเอง โดยจำเลยเชิดพ.และง. เป็นตัวแทน จำเลยต้องผูกพันรับผลการกระทำของพ.และง. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ฝากเงินจำนวน 2,000,000 บาท ไว้กับจำเลยมีกำหนดเวลา 1 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นายพัลลภและนางสาวงามจิตได้ร่วมกันสั่งจ่ายเช็ค จำนวนเงิน 2,000,000 บาทในนามของจำเลย เพื่อเป็นการชำระเงินฝากคืนแก่โจทก์ โดยจำเลยยินยอมให้บุคคลทั้งสองกระทำการแทนเสมือนตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยโจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้จำเลยชำระเงิน 2,600,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 2,000,000 บาทนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 1,000,000 บาท แก่จำเลย
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฟ้องแย้ง จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาจำเลยได้ขอถอนอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์อนุญาตแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นในชั้นนี้คงมีว่า จำเลยจะต้องรับผิดคืนเงินฝากของโจทก์โดยที่นายพัลลภและนางสาวงามจิต กรรมการของบริษัทจำเลยได้ออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2526 โจทก์นำเช็คเงินสดจำนวน 2,000,000 บาท ซึ่งต่อมาภายหลังได้มีการเรียกเก็บเงินแล้วไปที่บริษัทจำเลย พนักงานของจำเลยได้รับฝากเงินจำนวนดังกล่าวแล้วดำเนินการออกเช็คพิพาทซึ่งนายพัลลภและนางสาวงามจิตกรรมการของบริษัทจำเลยร่วมกันลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายพร้อมกับแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยรับฝากเงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เช็คพิพาทบรรจุอยู่ในซองพลาสติกและซองกระดาษของบริษัทจำเลย ปรากฏตามวัตถุพยานหมาย จ.3 ต่อมาโจทก์ก็ได้รับของขวัญและของที่ระลึกต่าง ๆ มีชื่อบริษัทจำเลยพร้อมตราประทับจากบริษัทจำเลยปรากฏหลักฐานตามเอกสารและวัตถุพยานหมาย จ.4ถึง จ.9 นอกจากนี้ก็ยังได้ความจากพยานอื่นของโจทก์ เช่นนางศิริรัตน์ จิตรวรรณภา และนายอนันต์ ลีวิโรจน์ ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยเบิกความสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ โดยต่างก็ยืนยันว่าแต่ละบุคคลต่างมุ่งฝากเงินไว้กับบริษัทจำเลยเท่านั้น ที่จำเลยให้การและนำพยานมาสืบว่า นายพัลลภและนางสาวงามจิตดำเนินการกับโจทก์เป็นธุรกิจส่วนตัวมิได้เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยอีกทั้งการรับฝากเงินของโจทก์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่นอกวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยและต้องห้ามตามกฎหมายนั้น เห็นว่าจำเลยเป็นนิติบุคคลปรากฏตามหนังสือรับรองและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย ล.1 และ ล.3 ว่า จำเลยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาและเพื่อการเคหะ จำเลยสามารถกู้ยืมเงินและรับเงินจากประชาชนโดยตกลงจ่ายดอกเบี้ยไม่เกินอัตราตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยอันเป็นวิธีการจัดหามาซึ่งเงินทุนของจำเลย ในขณะนั้นนายพัลลภและนางสาวงามจิตเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำกิจการของบริษัทจำเลย เมื่อโจทก์นำเงินไปฝาก ณ สำนักงานของจำเลยพนักงานของจำเลยเป็นผู้รับเงินนายพัลลภและนางสาวงามจิตกรรมการจำเลยออกเช็คพิพาทลงวันที่ล่วงหน้าให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้เงินที่พนักงานของจำเลยรับไป พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตหลงเข้าใจได้ว่าการรับฝากเงินเป็นกิจการของจำเลยและอยู่ในวัตถุประสงค์ข้อบังคับของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยรับฝากเงินและรู้เห็นเอง โดยจำเลยเชิดนายพัลลภและนางสาวงามจิตเป็นตัวแทนจำเลยต้องผูกพันรับผลการกระทำของนายพัลลภและนางสาวงามจิต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 821 ซึ่งเป็นผลให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไว้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน