คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองผิดสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 1 ตกลงรับสภาพหนี้กับโจทก์ และทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันเดิมฉบับใหม่กับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองให้การว่า หลังจากจำเลยที่ 1ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ฉบับแรกแล้ว จำเลยที่ 1 มิได้ตกลงรับสภาพหนี้กับโจทก์ด้วยการทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ฉบับใหม่ และจำเลยที่ 2ก็มิได้ตกลงทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ สัญญาซื้อขายรถยนต์และสัญญาค้ำประกันฉบับใหม่เป็นเอกสารปลอมที่โจทก์นำแบบฟอร์มสัญญาซื้อขายรถยนต์และสัญญาค้ำประกันมาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ลงชื่อในสัญญาซื้อขายและสัญญาค้ำประกันตามลำดับแล้วโจทก์นำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความอันเป็นเท็จโดยไม่ได้รับความยินยอม คำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นคำให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้ง ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ให้เหตุผลแห่งการปฏิเสธว่าสัญญาซื้อขายและสัญญาค้ำประกันฉบับใหม่เป็นเอกสารปลอม เมื่อคำให้การของจำเลยชัดแจ้งและไม่ขัดกัน คำสั่งของศาลชั้นต้นว่าจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบแก้ในประเด็นว่ามีการรับสภาพหนี้โดยทำสัญญาซื้อขายและค้ำประกันหรือไม่ กับสัญญาซื้อขายและค้ำประกันเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิในรถยนต์บรรทุกพิพาทดีกว่าโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวมาด้วยความสงบ เปิดเผยและแสดงเจตนาครอบครองอย่างเป็นเจ้าของมาเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเกี่ยวกับรถยนต์บรรทุกพิพาทอีกต่อไป คำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองนำพยานเข้าสืบแก้ในประเด็นข้อ 1 และข้อ 4 แต่จำเลยทั้งสองมิได้นำพยานเข้าสืบแก้ในประเด็นดังกล่าวเอง ฉะนั้น เมื่อศาลสูงยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยทั้งสองต่อไป จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิสืบพยานในประเด็นข้อนั้น และสำหรับประเด็นการครอบครองปรปักษ์รถยนต์พิพาทที่ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยนั้นเมื่อจำเลยนำสืบพยานในประเด็นข้อนี้แล้วก็ต้องให้โจทก์มีสิทธิสืบแก้ในข้อนี้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กับโจทก์โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อผ่อนชำระราคาครบแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงจะตกเป็นของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ยึดรถยนต์คืนและบอกเลิกสัญญาซื้อขายต่อมาจำเลยที่ 1 ตกลงรับสภาพหนี้กับโจทก์โดยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันเดิมฉบับใหม่ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน แล้วจำเลยที่ 1ผิดสัญญาไม่ชำระค่างวดแก่โจทก์อีก ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และคืนรถยนต์แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ตกลงรับสภาพหนี้กับโจทก์ และมิได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ฉบับใหม่ ทั้งจำเลยที่ 2ก็มิได้ตกลงทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ใหม่ สัญญาซื้อขายรถยนต์และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอมที่โจทก์นำแบบฟอร์มสัญญาซื้อขายรถยนต์และสัญญาค้ำประกันมาให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ลงชื่อในสัญญา แล้วโจทก์นำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความอันเป็นเท็จโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองรถยนต์บรรทุกพิพาทมาด้วยความสงบเปิดเผย และแสดงเจตนาการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี จำเลยที่ 1ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์แล้วโจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยทั้งสองต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาท 6 ข้อ คือ 1. อำนาจฟ้อง 2. มีการรับสภาพหนี้โดยทำสัญญาซื้อขายและค้ำประกันใหม่หรือไม่ 3. สัญญาซื้อขายและสัญญาค้ำประกันที่ทำขึ้นใหม่เป็นเอกสารปลอมหรือไม่ 4. อายุความ5. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ 6. จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ และมีคำสั่งว่าประเด็น ข้อ 5เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลวินิจฉัยได้เอง ประเด็นข้อ 1 ถึงข้อ 4โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ประเด็นข้อ 6จำเลยที่ 1 อ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยแต่ประเด็นข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 6 คำให้การจำเลยขัดกันไม่แจ้งชัดจำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบแก้ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขสิทธิในการนำพยานเข้าสืบของจำเลยทั้งสอง และเพิ่มเติมประเด็นใหม่บางข้อ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง จำเลยทั้งสองยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จำเลยทั้งสองไม่สืบพยาน
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าคำให้การจำเลยในประเด็นข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 6 ขัดกันไม่แจ้งชัดจำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบแก้ในประเด็นดังกล่าว เป็นคำสั่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2518 หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองผิดสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 1 ตกลงรับสภาพหนี้กับโจทก์และทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันเดิมฉบับใหม่ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2522กับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ จำเลยทั้งสองให้การว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2518 แล้ว จำเลยที่ 1 มิได้ตกลงรับสภาพหนี้กับโจทก์ด้วยการทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ฉบับใหม่และจำเลยที่ 2 ก็มิได้ตกลงทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ฉบับใหม่ เป็นเอกสารปลอมที่โจทก์นำแบบฟอร์มสัญญาซื้อขายรถยนต์และสัญญาค้ำประกันที่ยังไม่ได้กรอกรายการมาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงชื่อในสัญญาซื้อขายและสัญญาค้ำประกันตามลำดับ แล้วโจทก์นำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความอันเป็นเท็จโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 คำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นคำให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 1 ได้ตกลงรับสภาพหนี้กับโจทก์ด้วยการทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ฉบับใหม่ให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันฉบับใหม่โดยชัดแจ้ง ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ให้เหตุผลแห่งการปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวไว้โดยชัดแจ้งด้วยว่าสัญญาซื้อขายและสัญญาค้ำประกันฉบับใหม่เป็นเอกสารปลอม เพราะโจทก์นำเอกสารดังกล่าวซึ่งได้นำมาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงชื่อไว้โดยยังมิได้กรอกข้อความไปกรอกข้อความอันเป็นเท็จโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยทั้งสอง คำให้การของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อ 2 และข้อ 3 เป็นคำให้การที่ชัดแจ้งและไม่ขัดกันแต่อย่างใด เมื่อคำให้การของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อ 2 และข้อ 3 เป็นคำให้การที่ชัดแจ้งและไม่ขัดกันเช่นนี้คำสั่งของศาลชั้นต้นว่าจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบแก้ในประเด็นข้อ 2 และข้อ 3 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า คำให้การของจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อพิพาทข้อ 6 ที่จำเลยที่ 1อ้างว่าได้ครอบครองปรปักษ์รถยนต์พิพาทเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งเพราะเพียงแต่อ้างมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิได้แสดงเหตุแห่งการนั้นแต่อย่างใดนั้น เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ให้การว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิในรถยนต์บรรทุกพิพาทดีกว่าโจทก์เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวมาด้วยความสงบเปิดเผย และแสดงเจตนาครอบครองอย่างเป็นเจ้าของมาเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี นับแต่ปี 2519 เป็นต้นมา ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องเกี่ยวกับรถยนต์บรรทุกพิพาทอีกต่อไป คำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แล้วที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธินำพยานมาสืบแก้(ที่ถูกคือสืบ) ในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาข้อหลังว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยทั้งสองต่อไป เป็นการไม่ชอบทำให้โจทก์เสียเปรียบ เพราะการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองสืบพยานในประเด็นข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 6 ทำให้โจทก์มิได้นำสืบถึงประเด็นเหล่านั้นไว้มาแต่เดิม และจำเลยไม่นำพยานเข้าสืบในประเด็นอื่นเองมิใช่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานจำเลยนั้น เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาท 6 ข้อ และมีคำสั่งว่าประเด็นข้อ 5 เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลวินิจฉัยได้เอง ประเด็นข้อ 1 ถึงข้อ 4 โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยปฏิเสธ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ ประเด็นข้อ 6จำเลยที่ 1 อ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยแต่ประเด็นข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 6 คำให้การจำเลยขัดกันไม่แจ้งชัดจำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบแก้นั้น ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองนำพยานเข้าสืบแก้ในประเด็นข้อ 1 และข้อ 4ดังนั้นเมื่อจำเลยทั้งสองมิได้นำพยานเข้าสืบแก้ในประเด็นดังกล่าวเองจำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิสืบพยานในประเด็นทั้งสองข้อนั้นอีกต่อไปสำหรับประเด็นข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 6 นั้นภาระการพิสูจน์ประเด็นข้อ 2 และข้อ 3 ตกแก่โจทก์ ส่วนภาระการพิสูจน์ประเด็นข้อ 6ตกแก่จำเลย โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบก่อนในประเด็นข้อ 2 และข้อ 3 และนำสืบแก้ในประเด็นข้อ 6 เมื่อคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าประเด็นข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 6 คำให้การจำเลยขัดกันไม่แจ้งชัด จำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบแก้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบดังได้วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบพยานในประเด็นดังกล่าวได้โดยนำสืบแก้ในประเด็นข้อ 2 และข้อ 3 แล้วนำสืบในประเด็นข้อ 6ซึ่งเมื่อจำเลยนำสืบในประเด็นข้อ 6 แล้วโจทก์ก็ย่อมมีสิทธินำสืบแก้ในประเด็นนั้นต่อไปด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยทั้งสองในประเด็นข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 6 โดยให้โจทก์สืบแก้ในประเด็นข้อ 6 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share