แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เหตุฟ้องหย่าอันที่มิใช่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 นั้นโจทก์ต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายประพฤติตนไม่สมควรหรือกระทำการอันเข้าเงื่อนไขที่มาตรา 1516 ได้ระบุไว้นอกจากอนุมาตรา(4/2) ส่วนเหตุฟ้องหย่าที่เกิดจากความสมัครใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายก็ต้องเกิดจากความสมัครใจโดยแท้จริงของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย มิใช่สมัครใจเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น หากพฤติการณ์แห่งคดีมิได้เป็นไปดังที่ได้กล่าวมาทั้งสองกรณีนี้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย แม้ว่าจะมิได้อยู่ร่วมกันหรือไม่มีเยื่อใยต่อกัน และไม่มีความหวังที่จะคืนดีกันอีกแล้วก็ตาม
แม้จะถูกฟ้องหย่าหลายครั้ง จำเลยก็ไม่เคยคิดที่จะฟ้องหย่าโจทก์หรือมีความประสงค์ที่จะหย่าขาดจากโจทก์แต่อย่างใด รวมทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติกรรมในทำนองชู้สาวกับชายอื่นหรือนอกใจโจทก์ ตรงข้ามกับโจทก์ซึ่งมีพฤติกรรมอันส่อแสดงว่านอกใจจำเลยและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา จึงเป็นเหตุที่ทำให้จำเลยต้องทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยและสำนักราชเลขาธิการ รวมทั้งทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อบิดาและมารดาของหญิงที่ยุ่งเกี่ยวกับสามีของตน ตลอดจนฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงนั้นด้วย การที่จำเลยต้องกล่าวพาดพิงถึงโจทก์ในหนังสือร้องเรียนและเบิกความเป็นพยานในคดีดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงนั้นแม้ถ้อยคำบางคำอาจเกินเลยและรุนแรงไปบ้างก็ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวด้วยความหึงหวงในตัวสามีอันเป็นธรรมชาติของภริยาโดยทั่วไป ทั้งเป็นการกล่าวโดยสุจริต โดยชอบธรรมเพื่อป้องกันส่วนได้เสียตามคลองธรรม จึงมิใช่เป็นการหมิ่นประมาท ดังนั้น ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงอันต้องด้วยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3) อีกทั้งพฤติการณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยยังมิใช่กรณีที่สมัครใจแยกกันอยู่ตามมาตรา 1516(4/2) แต่เป็นกรณีโจทก์เป็นฝ่ายแยกไปเองโดยยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา เมื่อจำเลยมิได้ประสงค์จะหย่าขาดจากโจทก์โจทก์ก็ไม่อาจอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน และพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นพิจารณาโดยสืบพยานโจทก์และจำเลยใหม่แล้วพิพากษาให้โจทก์หย่าขาดกับจำเลย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาจดทะเบียนสมรสที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2505 มีบุตร 1 คนโจทก์เคยฟ้องหย่าจำเลย และศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องรวม 2 คดี ได้แก่
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2523 วินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนาแยกกับโจทก์หรือละทิ้งโจทก์ โจทก์เป็นฝ่ายหาทางแยกกับจำเลย เพราะจำเลยนำสืบได้ว่า โจทก์มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับนางสาวปิยะพรรณและส่งเสียให้นางสาวปิยะพรรณไปศึกษาในต่างประเทศ และโจทก์จะทำการสมรสกับนางสาวปิยะพรรณ
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5347/2538 วินิจฉัยว่า จำเลยมิได้ประพฤติชั่วและมิได้กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง
ส่วนจำเลยได้ฟ้องนางดารัตน์ วิภาตะกลัศ เรียกค่าทดแทนเนื่องจากนางดารัตน์แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์ในคดีนี้ตั้งแต่ปี 2523 โดยโจทก์มิได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจ คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2539 ให้นางดารัตน์ชำระเงิน200,000 บาท แก่จำเลยในคดีนี้ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทอ้างว่าจำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีที่จำเลยฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางดารัตน์ โดยเจตนาใส่ความโจทก์หลายเรื่อง ปรากฏว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คดีจึงต้องห้ามฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นของโจทก์ตามคำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่ 2085/2539 นอกจากนี้โจทก์ยังฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาท โดยกล่าวหาว่าจำเลยกล่าวข้อความเป็นเท็จใส่ความโจทก์ต่อหน้าบุคคลหลายคนว่า โจทก์จบดอกเตอร์เพราะจำเลยส่งเสีย พอจบกลับมาไล่เตะลูกเมีย ทิ้งลูกเมียไปหาเมียใหม่ เมียคนแรกถูกหลอกเกือบหมดตัว พอคนที่สองก็ถูกหลอกเกลี้ยงตัว ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 เดือน ปรับ 500บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี โจทก์จึงนำข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวมาฟ้องหย่าจำเลยเป็นครั้งที่สาม ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ ค. 18/2536
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์เป็นการร้ายแรงหรือไม่ และโจทก์จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เกินกว่า3 ปี หรือไม่ เห็นว่า เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อาจแยกได้เป็น 2 กรณี คือ
1. เหตุฟ้องหย่า ที่มิใช่เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจึงต้องกล่าวอ้างว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำการเข้าเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใด ดังที่ปรากฏในมาตรา 1516 นอกจากมาตรา 1516(4/2)
2. เหตุฟ้องหย่า ที่เกิดจากความสมัครใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายดังที่ปรากฏในมาตรา 1516(4/2)
ทั้งนี้ เหตุฟ้องหย่าอันเนื่องจากกรณีที่ 1 นั้น โจทก์ต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายประพฤติตนไม่สมควร หรือกระทำการอันเข้าเงื่อนไขที่มาตรา 1516 ได้ระบุไว้นอกจากอนุมาตรา (4/2)ส่วนเหตุฟ้องหย่าอันเกี่ยวจากกรณีที่ 2 ก็ต้องเกิดจากความสมัครใจโดยแท้จริงของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย มิใช่สมัครใจเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นหากพฤติการณ์แห่งคดีมิได้เป็นไปดังที่ได้กล่าวมาทั้งสองกรณีนี้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย แม้ว่าจะมิได้อยู่ร่วมกันหรือไม่มีเยื่อใยต่อกันและไม่มีความหวังที่จะคืนดีกันอีกแล้วก็ตาม
เมื่อต้นเหตุแห่งการฟ้องหย่าในคดีนี้ เกิดจากความพยายามของโจทก์ที่ต้องการหย่าขาดจากจำเลยตลอดมานับตั้งแต่โจทก์เรียนจบปริญญาเอกกลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา แต่โจทก์ก็มิอาจที่จะหย่าขาดจากจำเลยได้ เพราะศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องถึง 2 ครั้งนอกจากนี้ ยังฟ้องจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาท และนำข้อเท็จจริงจากคดีดังกล่าวมาฟ้องหย่าจำเลยด้วย แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องอีก เห็นได้ว่า แม้จะถูกฟ้องหย่าหลายครั้งหลายครารวมทั้งในคดีนี้ก็ต้องย้อนกลับมาที่ศาลฎีกาถึง 2 ครั้ง จำเลยก็ไม่เคยคิดที่จะฟ้องหย่าโจทก์หรือมีความประสงค์ที่จะหย่าขาดจากโจทก์แต่อย่างใดรวมทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติกรรมในทำนองชู้สาวกับชายอื่นหรือนอกใจโจทก์ ตรงข้ามกับโจทก์ซึ่งมีพฤติกรรมอันส่อแสดงว่านอกใจจำเลยและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา ดังจะเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2523 และในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2539 จึงเป็นเหตุที่ทำให้จำเลยต้องทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย และสำนักราชเลขาธิการ รวมทั้งทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อบิดาและมารดาของหญิงที่ยุ่งเกี่ยวกับสามีของตน ตลอดจนฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงนั้นด้วย การที่จำเลยต้องกล่าวพาดพิงถึงโจทก์ในหนังสือร้องเรียน และเบิกความเป็นพยานในคดีดังกล่าวตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องข้อ 2.1 และ 2.2 ว่า เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงนั้น แม้ถ้อยคำบางคำอาจเกินเลยและรุนแรงไปบ้างก็ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยกล่าวด้วยความหึงหวงในตัวสามี อันเป็นธรรมชาติของภริยาโดยทั่วไป ทั้งเป็นการกล่าวโดยสุจริต โดยชอบธรรม เพื่อป้องกันส่วนได้เสียตามคลองธรรม จึงมิใช่เป็นกรณีหมิ่นประมาท จริงอยู่สำนักราชเลขาธิการมิใช่เป็นหน่วยงานที่จำเลยพึงร้องเรียนโดยตรง แต่มีเหตุที่อาจทำให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตใจว่า สมควรที่จะต้องร้องขอความเป็นธรรมต่อสำนักราชเลขาธิการด้วย เพราะเกี่ยวพันกับการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งนายกเหล่ากาชาดของจังหวัดว่ามีความเหมาะสมเพียงใดหรือไม่ที่จะให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ว่าราชการจังหวัดดำรงตำแหน่งนายกเหล่ากาชาดของจังหวัดนั้น
กล่าวโดยสรุป ข้อเท็จจริงตามหนังสือชี้แจงและคำเบิกความของจำเลยในทุกประเด็นตามข้อ 2.1 และ 2.2 ที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง เพราะทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชังนั้น เห็นว่า ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง อันต้องด้วยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(3) นอกจากนี้พฤติการณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยยังมิใช่กรณีที่สมัครใจแยกกันอยู่ตามมาตรา 1516(4/2)แต่เป็นกรณีโจทก์เป็นฝ่ายแยกไปเองโดยยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาเมื่อจำเลยมิได้ประสงค์จะหย่าขาดจากโจทก์ โจทก์ก็ไม่อาจอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้ ทั้งน่าจะเป็นบทเรียนให้โจทก์จำเลยได้คิดใคร่ครวญและทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ว่า โจทก์จำเลยได้ร่วมในชะตากรรมอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้มาเนิ่นนานเกินควรแล้ว สมควรที่จะได้ยุติความบาดหมางทั้งสิ้นทั้งปวงเพื่อบุตรที่โจทก์จำเลยมีอยู่เพียงคนเดียวซึ่งต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอันเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างบิดามารดา ทั้งที่บุตรมิได้ร่วมก่อขึ้นเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน