คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองต่อโจทก์เพื่อประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีซึ่งจำเลยที่ 1ทำไว้แก่โจทก์สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระบุว่าให้มีกำหนดระยะเวลา 12 เดือนนับแต่วันทำสัญญา ส่วนจำนวนเงินที่เบิกเงินเกินบัญชีให้ถือตามบัญชีกระแสรายวัน ไม่มีข้อความใดในสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่มีอยู่ก่อนและภายหลังที่ครบกำหนด 12 เดือนตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ดังนั้นหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดก็คือหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่เกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลา 12 เดือนนับแต่วันทำสัญญากับดอกเบี้ยซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลานั้น ส่วนหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันทำสัญญาต้องนำมาหักออก
เมื่อโจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 3 ซึ่งรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันไม่เต็มตามฟ้องความรับผิดของจำเลยที่ 3 ในค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้ให้โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1ที่ 2 จึงควรมีเพียงเท่าค่าธรรมเนียมในทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีต่อจำเลยที่ 3 เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นลูกค้าของธนาคารโจทก์ที่สาขาถนนดินแดง โดยเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวัน ต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2515 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 70,000 บาท มีกำหนด 12 เดือน และยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จำเลยที่ 3 ได้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงิน 70,000 บาท โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน ครั้นต่อมาถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2522 ซึ่งเป็นวันหักทอนบัญชี จำเลยที่ 1 เป็นหนี้อยู่ 207,556.24 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามแล้ว จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้หากไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งสามมาชำระหนี้จนครบ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การต่อสู้คดีหลายประการซึ่งไม่มีประเด็นที่เป็นสาระสำคัญแล้วต่อมาศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน

จำเลยที่ 3 ให้การว่า ได้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จริง แต่ไม่ต้องรับผิดเกินกว่า 70,000 บาท และอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 12.5 ต่อปี ในวันครบกำหนด 12 เดือน ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 มิได้เป็นหนี้โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังกำหนดเวลานั้น ขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 207,556.24 บาทพร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 12.5 ต่อปี ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเพียง 70,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้บังคับจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้เท่าที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2ในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 เบิกเกินบัญชีไม่เกิน 70,000 บาท และดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2515 ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2516 และดอกเบี้ยไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2516จนถึงวันที่ชำระเสร็จ

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่เท่าใดจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตอนท้ายมีใจความว่า สัญญานี้มีกำหนดระยะเวลา 12 เดือน นับแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2515 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาเป็นต้นไปส่วนจำนวนเงินที่เบิกเกินบัญชีไปนั้นให้ถือตามบัญชีกระแสรายวันของธนาคาร และไม่มีข้อความใดในสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดในหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ก่อนและภายหลังที่ครบกำหนดเวลา 12 เดือน ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีด้วย ดังนั้นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็คือหนี้เบิกเงินเกินบัญชีที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม 2515 จนกระทั่งครบกำหนดระยะเวลา 12 เดือนคือวันที่ 21 สิงหาคม 2516 ซึ่งได้ตัดทอนบัญชีและหักกลบลบกันแล้วเท่านั้น ปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันว่า ในวันที่ 9 สิงหาคม 2515ซึ่งเป็นรายการสุดท้ายก่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2515 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์อยู่ก่อนแล้วเป็นเงิน 44,801.26 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินและนำเงินเข้าบัญชีตลอดเรื่อยมาจนถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2516 เมื่อหักทอนบัญชีและหักกลบลบกันแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้รวมทั้งดอกเบี้ยเป็นเงิน 103,303.77 บาท ซึ่งยอดเงินจำนวนนี้รวมยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ก่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2515 จำนวน 44,801.26 บาท เข้าไว้ด้วย จึงต้องนำยอดเงิน 44,801.26 บาท มาหักออกเสียก่อนคงเหลือหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในวันที่ 21 สิงหาคม 2516 เพียง 58,502.51 บาท แต่ยอดเงิน 58,502.51 บาท ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ได้คิดดอกเบี้ยทบต้นรวมเข้าในยอดเงินดังกล่าวนี้แล้วตลอดมาทุกเดือน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยทบต้นในยอดเงินนี้อีก

ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้แบ่งส่วนเงินค่าธรรมเนียมและค่าทนายความส่วนที่จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ชดใช้ให้โจทก์ด้วยนั้น โดยที่คดีนี้โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 3 ไม่เต็มตามฟ้อง ทั้งจำเลยที่ 3 ก็จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันและเป็นผู้จำนองค้ำประกันหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์เท่านั้น จึงสมควรแบ่งส่วนความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 เบิกเกินบัญชีและดอกเบี้ยทบต้นตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2515 ถึงวันที่21 สิงหาคม 2516 รวมเป็นเงิน 58,502.51 บาท และดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ12.5 ต่อปี ในต้นเงิน 58,502.51 บาท ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2516 จนถึงวันชำระเสร็จตามคำพิพากษา ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้ให้โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเท่าค่าธรรมเนียมในทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีต่อจำเลยที่ 3 ในชั้นฎีกา โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในค่าทนายความเพียง 1,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share