คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 141/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ไม่มีงานทำและไม่มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวและมีคำขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในระหว่างที่โจทก์ถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน โดยถือเสมือนว่ามิได้มีการเลิกจ้าง คำขอของโจทก์ถือได้ว่าโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์ในระหว่างที่ ถูกเลิกจ้างโดยถืออัตราค่าจ้างเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหาย นั่นเอง มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 เป็นบทบัญญัติในทางวิธีสบัญญัติ ที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาได้เมื่อปรากฏข้อเท็จจริง ในทางพิจารณา ว่าการเลิกจ้างลูกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ข้อความที่บัญญัติไว้ก็ปรากฏชัดแจ้งว่า ในระหว่างการพิจารณาคดี ใน กรณี นายจ้าง เลิกจ้างลูกจ้าง เช่น ลูกจ้างฟ้องเรียกค่าชดเชย ถ้า ศาลแรงงาน เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคดียังปรากฏว่าเป็นการเลิกจ้าง ไม่เป็นธรรมอีกด้วย ศาลแรงงานก็มี อำนาจพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้าง กลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นบทบัญญัติพิเศษที่ให้อำนาจ ศาลแรงงานที่จะหยิบยกเอาการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมขึ้นวินิจฉัยเอง โดยลูกจ้างมิได้ฟ้องเป็น ประเด็นมาโดยตรง ดังนั้นเมื่อศาลแรงงาน ใช้อำนาจตาม มาตรา49 ศาลแรงงานคงมีอำนาจพิพากษาให้นายจ้าง รับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายให้อำนาจ ไว้ เท่านั้น จะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายในระหว่าง ถูกเลิกจ้างจนรับกลับเข้าทำงานไม่ได้ เพราะมาตรา 49 ไม่ได้ให้ อำนาจไว้ แต่คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาโดยชัดแจ้งว่า จำเลยเลิกจ้าง โจทก์โดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยชดใช้ค่าจ้าง ใน ระหว่าง ถูกเลิกจ้างจนกว่าจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานซึ่งเป็น กรณี ที่ โจทก์ตั้งประเด็นข้อพิพาทมาโดยตรงว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้าง ได้ ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์โดยมิชอบ ด้วย กฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้รับค่าจ้างตาม สัญญาจ้างแรงงาน ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ เป็นการขอให้ ศาลแรงงาน พิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มี กฎหมาย ห้ามมิให้โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในกรณีดังกล่าว โจทก์ จึง มีสิทธิ ฟ้อง เรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยได้ แม้โจทก์ เรียกร้องมาเป็นค่าจ้าง แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า โจทก์เรียกค่าเสียหาย ศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้เป็นค่าเสียหายได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างแรงงาน มาตรา 575 บัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลา ที่ ลูกจ้างทำงานให้ โจทก์สามารถทำงานให้นายจ้างตลอดมา แต่จำเลย กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม เป็นเหตุ ให้ โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้ รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากจำเลย แม้โจทก์ไม่ได้ ทำงานให้จำเลยก็ตามพระราชบัญญัติ ญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานที่จะใช้ดุลพินิจบังคับ ให้ นายจ้าง รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อ ศาลแรงงาน พิพากษา ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้ว จึงไม่จำเป็น ต้อง วินิจฉัย เกี่ยวกับค่าเสียหายในกรณีไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานอีก.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2518 จำเลยได้จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ครั้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาประจำฝ่ายกิจการสาขา ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 11,110 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสุดท้ายของเดือน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2532จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ โดยจำเลยอ้างว่าโจทก์ประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรงโดยได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าเกินขอบเขต คบคิดกับลูกค้าทำหนังสือร้องเรียนขึ้นซึ่งไม่เป็นความจริง จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม และจ่ายค่าจ้างระหว่างที่โจทก์ถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่รับโจทก์กลับเข้าทำงานหากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยมีการตั้งกรรมการสอบสวนตามระเบียบของจำเลยแล้ว และได้ความว่าโจทก์ประพฤติตนไปในทางทำให้เสื่อมต่อตำแหน่งหน้าที่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาไม่รักษาความลับในหน้าที่การงาน ไม่รักษาความสามัคคีระหว่างเพื่อนร่วมงาน และกระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตเป็นการประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามระเบียบว่าด้วยการพนักงาน และข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของธนาคาร จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายและกลับเข้าทำงานกับจำเลยต่อไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า
1. จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่
2. จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องให้โจทก์หรือไม่
3. จำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานต่อไปตามฟ้องหรือไม่
4. จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างระหว่างที่โจทก์ถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือไม่
5. จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด หากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานอีกตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการสาขาประจำฝ่ายกิจการสาขาของจำเลยหรือเทียบเท่าโดยได้รับค่าจ้างเดือนละ 11,100 บาท ส่วนคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนโจทก์อุทธรณ์ว่า ตามประเด็นข้อพิพาทข้อ 4 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยต้องรับผิดชอบในการกระทำของจำเลยที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยตรง คือไม่ได้รับค่าจ้างตามปกติซึ่งโจทก์มีสิทธิจะพึงได้รับจากจำเลยเสมือนหนึ่งโจทก์มิได้ถูกเลิกจ้างเลย โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ได้ทำงานให้จำเลยหรือไม่ เพราะสาเหตุแห่งการที่โจทก์ไม่ได้ทำงานตามปกติเป็นเหตุมาจากจำเลยออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยมิชอบ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์นับถึงวันยื่นอุทธรณ์เป็นเงิน 217,664.50 บาทโจทก์ยังอุทธรณ์ในประเด็นข้อพิพาทข้อ 5 ว่า ศาลแรงงานกลางได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในข้อ 5 แล้วว่าจำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด หากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานอีกตามฟ้องแต่ศาลแรงงานกลางกลับไม่วินิจฉัยและไม่มีคำพิพากษาในประเด็นข้อนี้จึงเป็นการไม่ชอบพิเคราะห์แล้ว สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ตามประเด็นข้อพิพาทข้อ 4 นั้น ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยและรับฟังข้อเท็จจริงไว้ในประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ไม่มีงานทำและไม่มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวและมีคำขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในระหว่างที่โจทก์ถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน โดยถือเสมือนว่ามิได้มีการเลิกจ้าง คำขอของโจทก์ถือได้ว่าโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์ในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างโดยถืออัตราค่าจ้างเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายนั่นเองปัญหาจึงมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหายที่ไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างถูกเลิกจ้างหรือไม่ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 บัญญัติว่า
“การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้างมูลเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา”
จะเห็นได้ว่าตามบทบัญญัติดังกล่าว ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นกลับเข้าทำงานในอัตราค่าจ้างเดิมหรือถ้าไม่สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานก็มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทนอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลแรงงานพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหาย แก่ลูกจ้างในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างจนรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน แต่ศาลฎีกาเห็นว่ามาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 เป็นบทบัญญัติในทางวิธีสบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาได้เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงในทางพิจารณาว่าการเลิกจ้างลูกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ข้อความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49ก็ปรากฏชัดแจ้งว่าในระหว่างการพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง เช่น ลูกจ้างฟ้องเรียกค่าชดเชย ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดียังปรากฏว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอีกด้วยศาลแรงงานก็มีอำนาจพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นบทบัญญัติพิเศษที่ให้อำนาจศาลแรงงานที่จะหยิบยกเอาการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมขึ้นวินิจฉัยเอง โดยลูกจ้างมิได้ฟ้องเป็นประเด็นมาโดยตรง ดังนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางใช้อำนาจตามมาตรา 49 ศาลแรงงานกลางคงมีอำนาจพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น จะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างถูกเลิกจ้างจนรับกลับเข้าทำงานไม่ได้ เพราะมาตรา 49 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ แต่คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาโดยชัดแจ้งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยชดใช้ค่าจ้างในระหว่างถูกเลิกจ้างจนกว่าจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ตั้งประเด็นข้อพิพาทมาโดยตรงว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นการขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามมิให้โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในกรณีดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยได้ แม้โจทก์เรียกร้องมาเป็นค่าจ้าง แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่าโจทก์เรียกค่าเสียหาย ศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้เป็นค่าเสียหายได้เมื่อพิเคราะห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างแรงงานมาตรา 575 ที่บัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ โจทก์คดีนี้สามารถทำงานให้นายจ้างตลอดมา แต่จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากจำเลยแม้โจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยก็ตาม ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าขณะที่โจทก์ถูกเลิกจ้าง จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้ทำงานโดยไม่กำหนดเป็นค่าเสียหายให้โจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น เห็นสมควรให้ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ตามแต่จะพิจารณาเห็นสมควร ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลแรงงานกลางจะต้องกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชำระถ้าจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามที่กำหนดไว้ในประเด็นข้อพิพาทข้อ 5 นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 49 ให้อำนาจแก่ศาลแรงงานที่จะใช้ดุลพินิจบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้วจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าเสียหายในกรณีไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานในประเด็นข้อพิพาทข้อ 5 อีก
อนึ่ง ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เห็นควรให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม ซึ่งตามคำฟ้อง โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 11,100 บาท แต่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งผู้จัดการสาขา ประจำฝ่ายกิจการสาขาของจำเลยหรือเทียบเท่า โดยให้ได้รับค่าจ้างเพียงเดือนละ 11,100 บาท จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 11,100 บาทเมื่อจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะประเด็นข้อพิพาทข้อ 4 ให้ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนค่าเสียหายระหว่างโจทก์ถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้วพิพากษาใหม่เฉพาะประเด็นข้อนี้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share