คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 141/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ไม่มีงานทำและไม่มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวและมีคำขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในระหว่างที่โจทก์ถูกเลิกจ้างจนถึงวันที่จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน โดยถือเสมือนว่ามิได้มีการเลิกจ้าง คำขอของโจทก์ถือได้ว่าโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์ในระหว่างที่ถูกเลิกจ้างโดยถืออัตราค่าจ้างเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายนั่นเอง
มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 เป็นบทบัญญัติในทางวิธีสบัญญัติที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาได้เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในทางพิจารณาว่าการเลิกจ้างลูกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ข้อความที่บัญญัติไว้ก็ปรากฏชัดแจ้งว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง เช่น ลูกจ้างฟ้องเรียกค่าชดเชย ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดียังปรากฏว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอีกด้วย ศาลแรงงานก็มีอำนาจพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นบทบัญญัติพิเศษที่ให้อำนาจศาลแรงงานที่จะหยิบยกเอาการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมขึ้นวินิจฉัยเอง โดยลูกจ้างมิได้ฟ้องเป็นประเด็นมาโดยตรง ดังนั้นเมื่อศาลแรงงานใช้อำนาจตามมาตรา 49 ศาลแรงงานคงมีอำนาจพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น จะพิพากษาให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างถูกเลิกจ้างจนรับกลับเข้าทำงานไม่ได้ เพราะมาตรา 49 ไม่ได้ให้อำนาจไว้ แต่คดีนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาโดยชัดแจ้งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยชดใช้ค่าจ้างในระหว่างถูกเลิกจ้างจนกว่าจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ตั้งประเด็นข้อพิพาทมาโดยตรงว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้ปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน กลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้รับค่าจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ เป็นการขอให้ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานตามประมวล-กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามมิให้โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในกรณีดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยได้ แม้โจทก์เรียกร้องมาเป็นค่าจ้าง แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่าโจทก์เรียกค่าเสียหาย ศาลก็มีอำนาจพิพากษาให้เป็นค่าเสียหายได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะจ้างแรงงาน มาตรา 575 บัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ โจทก์สามารถทำงานให้นายจ้างตลอดมา แต่จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากจำเลย แม้โจทก์ไม่ได้ทำงานให้จำเลยก็ตาม
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 49 ให้อำนาจศาลแรงงานที่จะใช้ดุลพินิจบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับค่าเสียหายในกรณีไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานอีก

Share