คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1407/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นำพินัยกรรมปลอมไปแสดงต่อพนักงานที่ดินอำเภอเพื่อขอรับมรดกและอำเภอได้ประกาศการขอรับมรดกแล้ว แม้ต่อมาจะได้ขอถอนคำขอรับมรดกนั้นเสีย การนำพินัยกรรมปลอมไปแสดงเช่นนั้นก็เป็นการกระทำอันเป็นเหตุที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นแล้ว จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมกันทำพินัยกรรมปลอม และจำเลยที่ 2, 3ร่วมกันนำพินัยกรรมที่ปลอมขึ้นไปแสดงต่อพนักงานที่ดินอำเภอเพื่อขอรับมรดก เจ้าหน้าที่ได้ประกาศการขอรับมรดก โจทก์ไปยื่นคำร้องคัดค้าน จำเลยที่ 2, 3 จึงได้ถอนคำขอรับมรดก ขอให้ลงโทษตามมาตรา 264, 265, 266, 268, 83, 84 และ 90

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ผิดตามมาตรา 266(2) จำเลยที่ 2, 3 ผิดฐานใช้ตามมาตรา 266

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 2, 3 ผิดตามมาตรา 268 วรรคแรก

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามที่จำเลยที่ 2, 3 นำพินัยกรรมปลอมไปขอรับมรดกต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอ ๆ ได้ประกาศการขอรับมรดกแล้ว โจทก์ได้ไปคัดค้าน จำเลยจึงขอถอนคำขอรับมรดกเสียเช่นนี้ แม้โจทก์จะยังไม่ทันได้รับความเสียหายตามที่จำเลยฎีกาขึ้นมาก็ดีแต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ได้บัญญัติว่า ผู้ใดใช้เอกสารปลอมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ก็เป็นความผิดแล้ว ในกรณีที่จำเลยนำพินัยกรรมปลอมไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเพื่อขอรับมรดกนั้นถ้าโจทก์ไม่ทราบและไม่ได้ไปคัดค้านเสียก่อน โจทก์ก็ได้รับความเสียหายโดยไม่มีปัญหาใด ๆ ฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ เข้าเกณฑ์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 แล้ว

พิพากษายืน

Share