แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีที่โจทก์มีพยานเพียง 2 ปาก และศาลได้วินิจฉัยว่าพยานทั้งสองนั้นไม่ได้เห็นเหตุการณ์จริงเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าคดีโจทก์ไม่มีพยานที่จะให้ศาลฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดจึงเป็นเหตุลักษณะคดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ยกฟ้องจำเลยที่ 2,3,4โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2, 3, 4 ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์เช่นนี้ เมื่อเหตุที่ศาลอุทธรณ์จะยกฟ้องเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีแล้วศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ได้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกปล้นทรัพย์
จำเลยทั้ง 4 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดให้จำคุก ส่วนจำเลยที่ 2, 3, 4 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2, 3, 4 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่าพยานจะได้เห็นเหตุการณ์จริงที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2, 3, 4 นั้นชอบแล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ก็เห็นว่าเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ขึ้นมาได้ พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาพิเคราะห์คำเบิกความของนายอมรและนายสว่างแล้ว เห็นว่าคำพยานทั้งสองไม่น่าเชื่อ กล่าวคือ นายอมรว่าได้ยินคนร้ายพูดกันว่าจะไปปล้นบ้านเจ้าทรัพย์แล้วได้ไปปรึกษากับนายสว่างว่าจะไปบอกให้เจ้าทรัพย์รู้ตัว แต่เมื่อเกิดเหตุแล้วพยานทั้งสองก็หาได้บอกแก่เจ้าพนักงานตำรวจหรือชาวบ้านที่มาช่วยเจ้าทรัพย์ในคืนนั้นแต่อย่างใด ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยถึงเหตุผลที่ไม่น่าเชื่อว่าพยานทั้งสองนี้จะได้รู้เห็นเหตุการณ์ไว้โดยละเอียดแล้ว เมื่อคดีของโจทก์มีพยานเพียง 2 ปาก และศาลได้วินิจฉัยว่าพยานทั้งสองนี้ไม่ได้เห็นเหตุการณ์จริงก็เท่ากับว่าคดีนี้โจทก์ไม่มีพยานที่จะให้ศาลฟังว่าจำเลยได้กระทำผิด จึงเป็นเหตุลักษณะคดี
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2,3, 4 แต่ศาลอุทธรณ์กลับพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ยกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วย เป็นการไม่ชอบนั้น ปัญหาเช่นนี้ได้เคยวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแล้ว ตามฎีกาที่ 1370/2503 ว่า ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ตลอดถึงจำเลยที่มิได้อุทธรณ์ได้ ในเมื่อเหตุที่ให้ยกฟ้องนั้นเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วยนั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน