แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญากู้เงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่ธนาคารโจทก์ โดยตกลงให้โจทก์ทำประกันภัยได้เองและจำเลยยอมชำระเบี้ยประกันคืนแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อหน้าที่ที่จำเลยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ กรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 420,000บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หากติดค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปียินยอมให้โจทก์ทบดอกเบี้ยที่ค้างชำระเข้าเป็นต้นเงิน ณ วันที่ค้างชำระครบหนึ่งปีโดยยินยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินต้นใหม่ในอัตราเดียวกัน หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นกว่าข้อตกลงได้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดโดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้า ในการกู้ยืมเงินดังกล่าว จำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 64090 ตำบลบึงคอไห อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี มาจำนองไว้เป็นประกัน จำเลยผิดนัด โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์คิดถึงวันฟ้องเป็นต้นเงิน 303,144.19 บาท ดอกเบี้ย 41,995.46 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 345,139.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 303,144.19 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยจำนวน 1,427.38 บาท ของทุกสามปีหากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ขอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยทั้งสองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 303,144.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 เมษายน 2543 ถึงวันที่ 24 กันยายน2543 ร้อยละ 7.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2543 ถึงวันที่ 8 เมษายน 2544 และร้อยละ 10.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 64090 ตำบลบึงคอไห อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ถ้าได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าศาลจะใช้ดุลพินิจลดอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดจากจำเลยลงและกำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่ให้แตกต่างจากข้อตกลงในสัญญาได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์โดยอาศัยสิทธิจากข้อตกลงในหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.7 และหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.8 ที่จำเลยทำให้ไว้กับโจทก์ ซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.7 ข้อ 1 ระบุว่าผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และในกรณีมีเหตุจำเป็นยินยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดเมื่อใดก็ได้ แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้ หนังสือสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ก็มีใจความว่าผู้จำนองตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เช่นกัน จากข้อสัญญาดังกล่าวไม่ว่าจำเลยจะผิดนัดหรือไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีได้ตามข้อตกลงตามสัญญานั้น การคิดดอกเบี้ยดังกล่าวเข้าลักษณะดอกผลนิตินัยที่โจทก์พึงได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148 วรรคสาม แม้ทางปฏิบัติโจทก์จะผ่อนผันให้โดยคิดดอกเบี้ยไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โดยเริ่มแรกคิดดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 11 ต่อปี และโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยรวม 34 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2544 จากอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นร้อยละ 15 ต่อปี ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญา ซึ่งโจทก์มีสิทธิที่จะไม่ยอมให้ประโยชน์แก่จำเลยอีกต่อไป โดยกลับไปคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามข้อตกลงในสัญญาได้ กรณีหาใช่เรื่องลูกหนี้สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้เป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องอันจะถือว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ไม่ ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจลดอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดเรียกเอาจากจำเลยได้เพราะไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจศาลทำเช่นนั้นได้เมื่อไม่มีบทกฎหมายใดรองรับให้ศาลทำได้เช่นนั้นได้แล้ว ศาลจึงหาอาจกำหนดลดอัตราดอกเบี้ยใหม่ให้แตกต่างจากข้อตกลงของโจทก์กับจำเลยในสัญญาอันเป็นการขัดต่อสิทธิได้ไม่ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธิเรียกขอให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยหลังวันฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญากู้เงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์ทำประกันภัยได้เอง และจำเลยยินยอมชำระเบี้ยประกันคืนแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อหน้าที่ที่จำเลยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้อง เป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้จึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้”
พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 345,139.65 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 303,144.19 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น