แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อกำหนดในการชำระเงินตามสัญญาจ้างข้อ 6.1 ระบุว่าผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างเป็นงวด ๆ ตามปริมาณงานที่ทำแล้วเสร็จตามแบบและรายการประกอบแบบ ไม่มีข้อความระบุให้เห็นชัดว่าโจทก์และจำเลย ได้ตกลงแบ่งเนื้องานที่จะรับส่งกันเป็นส่วนอย่างไร มีปริมาณงานแต่ละส่วนเท่าใด และระบุค่าจ้างของงานแต่ละส่วนเป็นจำนวนเท่าใด ตารางรายละเอียดมูลค่าจ้างเหมาก็เป็นเพียงวิธีการคิดจำนวนค่าจ้าง ไม่ใช่การแบ่งเนื้องานออกเป็นส่วน ๆ ประกอบกับสัญญาจ้างข้อ 6.2 ระบุว่าให้ผู้รับจ้างต้องรายงานผลการปฏิบัติงานที่แล้วเสร็จทุกวันสิ้นเดือนเพื่อส่งมอบงานให้ผู้ว่าจ้าง ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามผลงานที่ทำแล้วเสร็จนั่นเอง ไม่ใช่กรณีการจ้างเหมาที่มีกำหนดว่าจะส่งรับงานกันเป็นส่วน ๆ และได้ระบุสินจ้างไว้เป็นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 วรรคสอง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างได้เมื่อจำเลยรับมอบงานที่เป็นผลสำเร็จแห่งการที่โจทก์ทำตามมาตรา 587
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 273,077.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 กระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว โจทก์มีสิทธิได้รับชำระเงินงวดที่ 9 แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาในการส่งมอบงานงวดที่ 3 ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทำงานเสร็จสมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ของสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายเงินงวดที่ 10 ซึ่งตามสัญญาระบุให้โจทก์ต้องทำงานเสร็จสมบูรณ์ก่อน โจทก์มีสิทธิเรียกค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 เพียง 34,752 บาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 77,658.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 69,581.20 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 27 กรกฎาคม 2538) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ก่อสร้างพื้นอาคารคอนกรีตอัดแรงภายหลังตามสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระเงินค่าจ้างงวดที่ 3 ให้โจทก์ คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความสำหรับการชำระเงินในงวดที่ 3 หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเกี่ยวกับกรณีสัญญาจ้างทำของนั้น ป.พ.พ. มาตรา 602 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าการที่ทำนั้นมีกำหนดว่าจะส่งรับกันเป็นส่วน ๆ และได้ระบุจำนวนสินจ้างไว้เป็นส่วน ๆ ไซร้ ท่านว่าพึงใช้สินจ้างเพื่อการแต่ละส่วนในเวลารับเอาส่วนนั้น” คดีนี้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6.1 เกี่ยวกับการชำระเงินระบุว่า “ผู้ว่าจ้างตกลงจะจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างเป็นงวด ๆ ตามปริมาณของงานที่ทำแล้วเสร็จตามแบบและรายการประกอบแบบข้อ 6.2 “ก่อนยื่นหนังสือขอรับเงินตามข้อง 6.1 ผู้รับจ้างต้องทำรายงานผลการปฏิบัติงานที่แล้วเสร็จทุกวันสิ้นเดือนเพื่อส่งมอบงานให้แก่ผู้ว่าจ้างหรือผู้แทนของผู้ว่าจ้าง โดยผู้ว่าจ้างหรือผู้แทนของ ผู้ว่าจ้างจะทำการรับมอบงานภายใน 7 วัน นับจากวันส่งมอบงานในแต่ละเดือน หากผู้ว่าจ้างหรือผู้แทนของผู้ว่าจ้างไม่ทำการรับมอบงานหรือไม่มีการท้วงติงแจ้งเหตุขัดข้องเป็นลายลักษณ์อัษรภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ว่าจ้างรับมอบงานแล้ว การจ่ายเงินงวดทุกงวด (เว้นงวดสุดท้ายผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างภายใน 30 วัน (สามสิบวัน) นับจากวันที่ผู้ว่าจ้างหรือผู้แทนของผู้ว่าจ้างรับมอบงานแล้ว หรือวันที่ผู้รับจ้างยื่นเอกสารขอรับเงิน” เห็นว่า ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6 ซึ่งเป็นข้อกำหนดในการชำระเงินระบุในข้อ 6.1 ว่าผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างเป็นงวด ๆ ตามปริมาณของงานที่ทำแล้วเสร็จตามแบบและรายการประกอบแบบ ไม่มีข้อความระบุให้เห็นชัดว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกำหนดแบ่งเนื้องานที่จะส่งรับกันออกเป็นส่วนอย่างไร มีปริมาณงานแต่ละส่วนเท่าไร และระบุค่าจ้างของงานแต่ละส่วนเป็นจำนวนเท่าใดตารางรายละเอียดมูลค่าจ้างเหมาที่แนบท้ายเอกสารหมาย จ.1 เป็นเพียงวิธีการคิดจำนวนค่าจ้าง ไม่ใช่การแบ่งเนื้องานออกเป็นส่วน ๆ จำเลยที่ 1 ให้การโดยยกอายุความขึ้นต่อสู้ว่าอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2536 อันเป็นวันแรกของการโต้แย้งสิทธิ พอแปลได้ว่าจำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่างานตามเอกสารหมาย จ.1 มีกำหนดส่งรับกันเป็นส่วน ๆ โจทก์มีหนังสือส่งมอบงานงวดที่ 3 ตามหนังสือลงวันที่ 1 มิถุนายน 2536 ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 1 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2536 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ค้างส่งแบบและรายการประกอบแบบเพื่อให้ศาลได้วินิจฉัยว่าเอกสารดังกล่าวได้มีการแบ่งเนื้องานกำหนดวันส่งรับงานกันอย่างไร อีกทั้งตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6.2 ระบุให้ผู้รับจ้างต้องรายงานผลการปฏิบัติงานที่แล้วเสร็จทุกวันสิ้นเดือนเพื่อส่งมอบงานให้ผู้ว่าจ้าง เมื่อประกอบกับความในข้อ 6.1 ที่ระบุว่าผู้ว่าจ้างจ่ายเงินค่าจ้างตามปริมาณของงานที่ทำเสร็จเป็นงวด ๆ เป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามผลงานที่ทำแล้วเสร็จนั่นเอง สัญญาจ้างเหมาตามเอกสารหมาย จ.1 จึงไม่ใช่กรณีการจ้างเหมาที่มีกำหนดว่าจะส่งรับงานกันเป็นส่วน ๆ และได้ระบุจำนวนสินจ้างไว้เป็นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 วรรคสอง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 ได้เมื่อจำเลยที่ 1 รับมอบงานที่เป็นผลสำเร็จแห่งการที่โจทก์ทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 โจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 10 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายให้จำเลยที่ 1 ตามหนังสือลงวันที่ 4 ธันวาคม 2536 เอกสารหมาย จ.8 แผ่นที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่รับมอบงานโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ท้วงติงแจ้งเหตุขัดข้องแก่โจทก์เป็นลายลักษณ์อักษร ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 รับมอบงานแล้วภายในกำหนด 7 วัน คือวันที่ 11 ธันวาคม 2536 ตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6.2 อายุความที่โจทก์เรียกร้องเอาค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 จึงเริ่มนับจากวันที่ 11 ธันวาคม 2536 อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2538 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินค่าจ้างงวดที่ 3 แก่โจทก์ สำหรับงานงวดที่ 3 นั้นปรากฏว่าโจทก์ส่งมอบงานแก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือลงวันที่ 1 มิถุนายน 2536 เอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่รับมอบงานโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ท้วงติงแจ้งเหตุขัดข้องแก่โจทก์เป็นลายลักษณ์อักษร ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 รับมอบงานแล้วภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่โจทก์ส่งมอบคือวันที่ 8 มิถุนายน 2536 ตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6.2 แม้จะปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ว่าโจทก์ขอรับต้นฉบับเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 1 คืนไปเพื่อนำไปให้บริษัทวิศวกรรมนฤมาน จำกัด ผู้ควบคุมงานของจำเลยที่ 1 รับรองผลงาน ก็ไม่เป็นการลบล้างหน้าที่ที่จำเลยที่ 1 ต้องท้วงติงเจ้งเหตุขัดข้องเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อไม่รับมอบผลงานงวดที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6.2 ดังกล่าว โจทก์ออกใบแจ้งหนี้ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าจ้างงวดที่ 3 จำนวน 203,496 บาท เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2536 ตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 2 จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินให้โจทก์ภายใน 30 วัน นับจากวันที่โจทก์ขอรับเงินตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6.2 จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระเงินให้โจทก์ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2536 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2536 เป็นต้นไป ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์เพิ่มอีก 203,496 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแก่โจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้ 4,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.