แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คืนเกิดเหตุ ป. ยืนอยู่ริมถนนข้างทาง จำเลยถืออาวุธปืนของกลางซึ่งเป็นของ ป. เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจส่องไฟสปอทไลท์จำเลยส่งอาวุธปืนคืน ป. และ ป. โยนอาวุธปืนทิ้งไปที่ป่าหญ้าข้างทาง การที่จำเลยถืออาวุธปืนในมือในขณะที่ ป. ยืนอยู่ ณ ที่นั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับ ป. กระทำผิด จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 37
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับนายประหยัดหรือดำ ปอยมุ้ย จำเลยคดีอาญาหมายเลขดำที่ 148/2533 ของศาลชั้นต้น ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันคือ จำเลยกับนายประหยัดได้ร่วมกันมีอาวุธปืนลูกซองสั้นซึ่งไม่มีเครื่องหมายทะเบียนจำนวน 1 กระบอก อันเป็นอาวุธปืนตามกฎหมายและใช้ยิงได้ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ตามกฎหมาย และจำเลยกับพวกได้ร่วมกันพกพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปตามถนนสาย อ่าวลึกแหลมสักและถนนอื่น ๆ อันเป็นทางสาธารณะและหมู่บ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวจากเจ้าพนักงาน ทั้งไม่มีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91, 371 และริบของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก, 72 วรรคแรก, 72 ทวิ วรรคแรก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ประกอบด้วยมาตรา 83 จำเลยกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงบทหนักตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ของกลางริบ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าคืนเกิดเหตุ จำเลยและนายประหยัดยืนอยู่ริมถนนข้างทาง จำเลยถืออาวุธปืนของกลางเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจส่องไฟสปอทไลท์จำเลยส่งอาวุธปืนคืนนายประหยัดและนายประหยัดโยนปืนดังกล่าวทิ้ง มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ได้ความจากร้อยตำรวจเอกฉลอง ลิ่มหลัก พยานโจทก์ ซึ่งเป็นหัวหน้าสายตรวจในคืนเกิดเหตุว่า เมื่อส่องไฟสปอทไลท์เห็นจำเลยและนายประหยัดกำลังยื้อแย่งสิ่งของ (อาวุธปืน) กันและพยานได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ลักษณะแย่งหมายถึงการพยายามส่งอาวุธปืนให้แก่กันระหว่างจำเลยและนายประหยัด เพื่อผลักความรับผิดชอบ แสดงว่าทั้งสองคนต้องไม่ยอมรับอาวุธปืนของกลางไว้ในความครอบครองนั่นเองแต่พยานโจทก์หลายปากซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทำหน้าที่สายตรวจในคืนเกิดเหตุต่างอ้างว่าเห็นจำเลยส่งอาวุธปืนของกลางให้แก่นายประหยัดแล้วนายประหยัดโยนทิ้งที่ป่าหญ้าข้างทาง ที่เห็นการส่งอาวุธปืนนั้นไม่ใช่มีลักษณะการแย่งกัน ดังนี้เห็นว่าพยานโจทก์ดังกล่าวซึ่งเห็นเหตุการณ์เดียวกัน แต่กลับเบิกความแตกต่างกัน จึงมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยได้รับอาวุธปืนของกลางจากนายประหยัดไปโดยไม่มีลักษณะแย่งกันหรือไม่ เมื่อจำเลยถูกจับกุมก็ปฏิเสธว่าอาวุธปืนของกลางไม่ใช่ของจำเลยแต่เป็นของนายประหยัดและได้ความว่านายประหยัดได้ถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกัน โดยให้การรับสารภาพว่าอาวุธปืนของกลางเป็นของนายประหยัด ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษไปแล้ว จึงเชื่อว่าอาวุธปืนของกลางเป็นของนายประหยัดจริง เมื่อได้ความว่าอาวุธปืนของกลางเป็นของนายประหยัดจำเลยเพียงแต่ถืออาวุธปืนดังกล่าว และไม่ได้ความว่าจำเลยรับอาวุธปืนของกลางจากนายประหยัดโดยมิได้แย่งกันเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจส่องไฟสปอทไลท์จำเลยก็ส่งอาวุธปืนดังกล่าวกลับคืนแก่นายประหยัดดังนี้ การที่จำเลยถืออาวุธปืนในมือในขณะที่นายประหยัดยืนอยู่ ณ ที่นั้นถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับนายประหยัดกระทำผิด จำเลยไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง”
พิพากษายืน