คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1397/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำคำเสนอให้โจทก์ลาออกโดยยอมจ่ายเงินเพื่อตอบแทนการลาออก ซึ่งโจทก์มีคำสนองรับคำเสนอของจำเลยโดยการลาออก จึงเกิดสัญญาขึ้นระหว่างจำเลยกับโจทก์และมีผลตามกฎหมายแล้วนับแต่วันที่โจทก์ยื่นหนังสือขอลาออกการที่ภายหลังจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรง กระทำทุจริตต่อหน้าที่และกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง ก็หามีผลตามกฎหมายไม่เพราะขณะนั้นโจทก์และจำเลยมิได้มีความสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งมิใช่เหตุตามข้อสัญญาหรือบทบัญญัติของกฎหมายที่จะบอกเลิกสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุดังกล่าวมาเพื่อบอกเลิกสัญญาที่ทำกับโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายเทคนิค โจทก์จำเลยได้ตกลงกันเลิกสัญญาจ้างแรงงานโดยจำเลยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในใบลาออกให้มีผลเป็นการลาออกตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2542 และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 1กันยายน 2542 จำนวน 549,022.29 บาท เพื่อจ่ายเป็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่านายหน้าแก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2542 โจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยอ้างว่ามีการระงับการจ่ายเงินขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายเทคนิคเมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคม 2542 จำเลยได้พิจารณาเห็นว่าการทำงานของโจทก์ไม่เป็นที่น่าพอใจ หากยังคงทำงานกับจำเลยอีกต่อไป จำเลยจะได้รับความเสียหาย จึงได้เสนอให้โจทก์ลาออก โดยจำเลยยินยอมจ่ายเงินต่าง ๆ ตามฟ้องแก่โจทก์และได้ชำระเป็นเช็คฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2542 แก่โจทก์จริงและโจทก์ได้ยินยอมลาออกโดยมีผลเป็นการลาออกในวันที่ 1กันยายน 2542 ต่อมาหลังจากโจทก์ยื่นใบลาออกแล้ว แต่การลาออกยังไม่มีผล จำเลยได้ตรวจสอบข้อมูลการใช้คอมพิวเตอร์ของโจทก์ในระหว่างเป็นพนักงานของจำเลย ปรากฏว่าโจทก์ได้ส่งข้อมูลที่สำคัญและเป็นความลับของจำเลยไปให้คู่แข่งทางการค้าของจำเลยหลายราย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย และจำเลยยังตรวจพบอีกว่าโจทก์ได้ร่วมกับบุคคลอื่นประกอบกิจการหรือทำงานอื่นในระหว่างเป็นพนักงานของจำเลย ซึ่งงานดังกล่าวเป็นงานที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับจำเลย จึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นการกระทำความผิดทางอาญาโดยเจตนาแก่จำเลย เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรงและเป็นการผิดสัญญาจ้างในสาระสำคัญด้วย จำเลยจึงได้เลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 31 สิงหาคม 2542 ก่อนการลาออกของโจทก์มีผลจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ได้ใช้ให้แก่โจทก์จึงไม่มีความผูกพันใด ๆ ที่จะต้องชำระเงินตามเช็คดังกล่าว จำเลยจึงมีคำสั่งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คและโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากจำเลย เนื่องจากโจทก์ยังค้างชำระเงินทดรองค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องคืนแก่จำเลยจำนวน 4,200 บาท ซึ่งเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว โจทก์ยังมีหนี้ที่ต้องชำระต่อจำเลยอยู่ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายเทคนิคได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 72,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 26 ของเดือน จำเลยไม่พอใจผลการทำงานของโจทก์และเห็นว่าหากโจทก์ยังคงทำงานกับจำเลยต่อไป จำเลยจะได้รับความเสียหาย ดังนั้น เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2542 จำเลยได้เสนอให้โจทก์ลาออกโดยยอมจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าเปอร์เซ็นต์การขายรวม 688,658.52 บาท หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วคงเหลือ 549,022.29 บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์ตกลงตามข้อเสนอของจำเลย จึงได้ลงลายมือชื่อในหนังสือลาออกโดยให้มีผลเป็นการลาออกในวันที่ 1 กันยายน 2542 และใบรับเงินและปลดเปลื้อง จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 1 กันยายน 2542จำนวนเงิน 549,022.29 บาท มอบให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 31สิงหาคม 2542 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์อ้างว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรง กระทำทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง และมีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็ค โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่ 2กันยายน 2542 ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นิติกรรมสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยในเรื่องลาออกและจ่ายเงินตอบแทนการลาออกมีผลสมบูรณ์ผูกพันโจทก์และจำเลยแล้วตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2542จำเลยจึงต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน 549,022.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 กันยายน 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม2542 จำเลยทำคำเสนอให้โจทก์ลาออกโดยยอมจ่ายเงินให้แก่โจทก์เพื่อตอบแทนการลาออก ซึ่งโจทก์มีคำสนองรับคำเสนอของจำเลยโดยการลาออกจึงเกิดสัญญาขึ้นระหว่างจำเลยกับโจทก์ในวันดังกล่าวเช่นนี้ ถือว่าการแสดงเจตนาลาออกจากงานของโจทก์มีผลตามกฎหมายแล้วนับแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2542 อันเป็นวันที่โจทก์ยื่นหนังสือขอลาออก แม้ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคม 2542 จำเลยจะยกเรื่องที่อ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรงกระทำทุจริตต่อหน้าที่และกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างมาเลิกจ้างโจทก์ ก็หามีผลตามกฎหมายไม่ เพราะขณะนั้นโจทก์และจำเลยมิได้มีความสัมพันธ์กันในฐานะนายจ้างและลูกจ้าง อีกทั้งเหตุดังกล่าวก็มิใช่เหตุตามข้อสัญญาหรือบทบัญญัติของกฎหมายที่จะบอกเลิกสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 386 จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุดังกล่าวข้างต้นมาเพื่อบอกเลิกสัญญาที่จำเลยทำกับโจทก์ได้ จำเลยมีความผูกพันต้องชำระหนี้ตามสัญญาให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share