คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6535-6775/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 98 และ 103 และข้อบังคับของสหภาพแรงงาน ท. มิได้บังคับว่ามติที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานที่ให้ยื่นข้อเรียกร้องจะต้องมีรายละเอียดว่าให้เรียกร้องสิ่งใดเช่น ค่าจ้าง สวัสดิการ เป็นจำนวนเท่าไร และตั้งใครเป็นผู้แทนในการเจรจา ตามที่จำเลยอ้าง ดังนั้น มติที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงาน ท. ที่เพียงแต่ระบุให้สหภาพแรงงาน ท. ยื่นข้อเรียกร้องซึ่งเป็นกิจการอันมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของสมาชิกไว้ลอย ๆ โดยไม่มีรายละเอียดดังกล่าว จึงเป็นมติที่ชอบตาม มาตรา 103 (2) และข้อบังคับของสหภาพแรงงาน ท.
ข้อความที่ว่า “ประธานกล่าวว่าในปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเลย ฉะนั้นในปีนี้เราจำเป็นจะต้องยื่นข้อเรียกร้องก่อนสิ้นปี 2539 นี้ จึงอยากให้ที่ประชุมลงมติว่าเราจะยื่นข้อเรียกร้องหรือไม่ยื่น” มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่าเป็นเพียงคำกล่าวชี้แจงแสดงเหตุผลของประธานต่อที่ประชุมใหญ่ว่าเพราะเหตุใดจึงขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะให้ยื่นข้อเรียกร้องหรือไม่เท่านั้น หาได้หมายความว่าให้ที่ประชุมลงมติว่าให้ยื่นข้อเรียกร้องภายในสิ้นปี 2539 ด้วยไม่ เมื่อที่ประชุมใหญ่มิได้ลงมติไว้อย่างชัดแจ้งว่าให้ยื่นข้อเรียกร้องภายในปี 2539 และไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องกระทำในระยะเวลาใด สหภาพแรงงาน ท. จึงสามารถยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยได้ภายในระยะเวลาอันสมควร ที่ประชุมใหญ่ลงมติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2539 จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2540 ไม่ปรากฏว่าสหภาพแรงงาน ท. ได้ยื่นข้อเรียกร้องมาก่อน การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ท. เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 จึงเป็นการยื่นข้อเรียกร้องโดยมติของที่ประชุมใหญ่ภายในระยะเวลาอันสมควรแล้ว
การที่สหภาพแรงงาน ท. ทำหนังสือแจ้งข้อพิพาทแรงงานให้พนักงานประนอมข้อพิพาททราบตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 21 ในวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดราชการ โดยไปยื่นต่อ ส. ซึ่งทำหน้าที่เป็นเวรประจำที่ทำการของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน จึงถือได้ว่าสหภาพแรงงาน ท. ได้แจ้งข้อพิพาทแรงงานเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานแล้ว
ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่ยอมจ่ายย่อมถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันเลิกจ้างโดยมิพักต้องเรียกร้องหรือทวงถาม จำเลยจึงต้องจ่ายดอกเบี้ยให้โจทก์ที่ 19 ถึงที่ 241 ตั้งแต่วันเลิกจ้าง และเพื่อความเป็นธรรมอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 18 นับแต่วันเลิกจ้างด้วย แม้โจทก์ดังกล่าวจะไม่ได้อุทธรณ์ก็ตาม
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่มีกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างทันทีที่เลิกจ้าง และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวหรือไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันฟ้อง

ย่อยาว

คดีทั้งสองร้อยสี่สิบเอ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 241
โจทก์ทั้งสองร้อยสี่สิบเอ็ดฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย เงินโบนัส ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และค่าขาดรายได้ตามจำนวนเงินในฟ้องของโจทก์แต่ละสำนวน พร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยรับโจทก์บางคนกลับเข้าทำงาน
จำเลยให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องโจทก์ทุกสำนวนและบังคับโจทก์แต่ละคนจ่ายค่าเสียหายให้แก่จำเลยตามคำให้การและฟ้องแย้ง
โจทก์ทั้งสองร้อยสี่สิบเอ็ดให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหาย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์แต่ละคนตามรายการท้ายคำพิพากษาศาลแรงงานกลางโดยให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินยอดรวมที่โจทก์แต่ละคนได้รับนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 16 กรกฎาคม 2540 สำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 17 วันที่ 31 กรกฎาคม 2540 สำหรับโจทก์ที่ 18 วันที่ 5 สิงหาคม 2540 สำหรับโจทก์ที่ 19 ถึงที่ 240 และวันที่ 25 กันยายน 2540 สำหรับโจทก์ที่ 241) คำขออื่นของโจทก์แต่ละคน (หากมี) นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์สำนวนที่ 19 ถึงที่ 241 และจำเลยทุกสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 2.1 และ 2.3 ว่า มติที่ประชุมใหญ่เพียงแต่ระบุให้สหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ยื่นข้อเรียกร้องซึ่งเป็นกิจการอันมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของสมาชิกไว้ลอยๆ ไม่มีรายละเอียดว่าให้เรียกร้องสิ่งใด เช่น ค่าจ้าง สวัสดิการเป็นจำนวนเท่าไร และตั้งใครเป็นผู้แทนในการเจราจา เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 103 (2) และข้อบังคับของสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ ข้อ 34 (9) ถือว่ามิได้มีมติที่ประชุมใหญ่ให้ยื่นข้อเรียกร้อง การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 จึงไม่ชอบนั้น จำเลยได้นำสืบเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว แม้ศาลแรงงานกลางจะไม่ได้วินิจฉัยจำเลยก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ เห็นว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98 บัญญัติว่าเพื่อประโยชน์ของสมาชิกของสหภาพแรงงาน ให้สภาพแรงงานมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ใน (1) ถึง (6) ซึ่งอำนาจหน้าที่ตาม (1) คือการเรียกร้องเจรจา ทำความตกลงและรับทราบคำชี้ขาด หรือทำข้อตกลงกับนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างในกิจการของสมาชิก โดยมีข้อกำหนดควบคุมจำกัดอำนาจของสหภาพแรงงานไว้ในมาตรา 103 ว่าถ้าเป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 103 (1) ถึง (8) สหภาพแรงงานจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งข้อควบคุมจำกัดอำนาจตามมาตรา 103 (2) ก็คือ การดำเนินกิจการอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม เช่นเดียวกับข้อบังคับของสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ข้อ 34 (9) ทั้งนี้โดยทั้งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และข้อบังคับของสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์มิได้บังคับว่ามติของที่ประชุมใหญ่ดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดตามที่จำเลยอ้าง มติที่ประชุมใหญ่จึงเป็นมติที่ชอบด้วยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา103 (2) และข้อบังคับของสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ข้อ 34 (9) การยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์จึงเป็นการยื่นข้อเรียกร้องโดยมติของที่ประชุมใหญ่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 2.2 ว่า มติที่ประชุมใหญ่มีข้อความว่า “ประธาน กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเลย ฉะนั้นในปีนี้เราจำเป็นจะต้องยื่นข้อเรียกร้องก่อนสิ้นปี 2539 นี้ จึงอยากให้ที่ประชุมลงมติว่าเราจะยื่นข้อเรียกร้องหรือไม่ยื่น ที่ประชุมลงมติรับรองเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นข้อเรียกร้องได้” มีความหมายว่าที่ประชุมมีมติให้ยื่นข้อเรียกร้องก่อนสิ้นปี 2539 เห็นว่า ข้อความที่ว่า “ประธานกล่าวว่าในปีที่ผ่านเราไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเลย ฉะนั้นในปีนี้เราจำเป็นจะต้องยื่นข้อเรียกร้องก่อนสิ้นปี 2539 นี้ จึงอยากให้ที่ประชุมลงมติว่าเราจะยื่นข้อเรียกร้องหรือไม่ยื่น” มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวว่าเป็นเพียงคำกล่าวชี้แจงแสดงเหตุผลของประธานต่อที่ประชุมใหญ่ว่าเพราะเหตุใดจึงขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะให้ยื่นข้อเรียกร้องหรือไม่เท่านั้น หาได้หมายความว่า ให้ที่ประชุมลงมติว่าจะให้ยื่นข้อเรียกร้องภายในกำหนดระยะเวลาใดคือภายในสิ้นปี 2539 ด้วยไม่ เมื่อที่ประชุมใหญ่มิได้ลงมติไว้อย่างชัดแจ้งว่าให้ยื่นข้อเรียกร้องภายในปี 2539 และไม่มีกฎหมายบังคับว่าการยื่นข้อเรียกร้องจะต้องกระทำในระยะเวลาใดเพียงแต่ถ้าประสงค์จะให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่มีผลใช้บังคับต่อเนื่องกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิม ก็จะต้องยื่นข้อเรียกร้องเสียก่อนที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิมจะสิ้นระยะเวลาใช้บังคับเท่านั้น สหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์จึงสามารถยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยได้ภายในระยะเวลาอันสมควร นับตั้งแต่ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ยื่นข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2539 จนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2550 ไม่ปรากฎว่าสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยมาก่อนการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540 จึงเป็นการยื่นข้อเรียกร้องโดยมติของที่ประชุมใหญ่ภายในระยะเวลาอันสมควรแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น…
ที่จำเลยอุทธรณ์เป็นประการสุดท้ายในข้อ 2.6 ว่า แม้การแจ้งข้อพิพาทแรงงานจะกระทำในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 แต่ก็ยื่นต่อนายสราวุธ เจ้าหน้าที่เวรประจำสถานที่ราชการซึ่งมิใช่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจึงยังถือไม่ได้ว่าสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ได้มีหนังสือแจ้งข้อพิพาทแรงงานให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบภายใน 24 ชั่วโมงตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 21 เห็นว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 ตรงกับวันอาทิตย์เป็นวันหยุดราชการมีนายสราวุธทำหน้าที่เป็นเวรประจำที่ทำการของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน นายสราวุธย่อมมีอำนาจรับหนังสือแจ้งข้อพิพาทแรงงานในนามของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ การที่สหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ทำหนังสือแจ้งข้อพิพาทแรงงานไปยื่นต่อนายสราวุธในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 จึงถือได้ว่าสหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ได้แจ้งข้อพิพาทแรงงานเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบภายใน 24 ชั่วโมง ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 21 แล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน…
ที่โจทก์ที่ 19 ถึงที่ 241 อุทธรณ์ในข้อ 2.2 ว่า จำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยของค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์ดังกล่าวตั้งแต่วันเลิกจ้าง ไม่ใช่ตั้งแต่วันฟ้อง เห็นว่า ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 เมื่อจำเลยไม่จ่ายย่อมถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยมิพักต้องเรียกร้องหรือทวงถาม จำเลยจึงต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 19 ถึงที่ 241 ตั้งแต่วันเลิกจ้าง และเพื่อความเป็นธรรมอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 18 นับแต่วันเลิกจ้างด้วย แม้โจทก์ดังกล่าวจะไม่ได้อุทธรณ์ก็ตาม ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น ไม่มีกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างทันทีที่เลิกจ้าง และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 19 ถึงที่ 241 ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวหรือไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจึงถูกต้องแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 19 ถึงที่ 241 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนที่โจทก์ที่ 35 และโจทก์ที่ 239 อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 35 ควรได้ค่าชดเชย 75,450 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 20,958 บาท โจทก์ที่ 239 ควรได้ค่าชดเชย 112,650 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 31,920 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 6,258 บาท และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 122,523 บาท นั้น เห็นว่า ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 35 ว่า โจทก์ที่ 35 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2537 ได้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 12,575 บาท เมื่อโจทก์ที่ 35 ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2540 จึงมีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน คิดเป็นเงิน 37,725 บาท และมีสิทธิได้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 50 วัน คิดเป็นเงิน 20,958 บาท ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าชดเชยให้ 37,725 บาท จึงถูกต้องแล้ว แต่สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่กำหนดให้ 20,950 บาท นั้นไม่ถูกต้อง ส่วนโจทก์ที่ 239 เข้าทำงานเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2519 ได้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 18,775 บาท เมื่อโจทก์ที่ 239 ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2540 จึงมีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน คิดเป็นเงิน 112,650 บาท และมีสิทธิได้สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 50 วัน คิดเป็นเงิน 31,291 บาทสำหรับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ที่ 239 ปรากฏว่าคู่ความแถลงรับกันตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 ว่าวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ที่ 239 เหลืออยู่ คือ 12 วัน โจทก์ที่ 239 จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 7,510 บาท ส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น นอกจากโจทก์ที่ 239 จะไม่ได้ฟ้องเรียกร้องมาด้วยแล้วโจทก์ที่ 239 ยังแถลงรับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 29 กันยายน 2541 ด้วยว่าโจทก์ 239 ได้รับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในส่วนของตนไปครบถ้วนถูกต้องแล้ว โจทก์ที่ 239 จึงไม่มีสิทธิเลี้ยงชีพให้โจทก์ที่ 239 จึงถูกต้องแล้ว แต่ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าชดเชยให้ 66,330 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 18,450 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 5,166 บาท นั้นไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 35 และที่ 239 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าของโจทก์ที่ 35 และโจทก์ที่ 239 ให้จำเลยจ่ายเป็นเงิน 20,958 บาท และ 31,291 บาท ตามลำดับ กับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ที่ 239 ให้จำเลยจ่ายเป็นเงิน 112,650 บาท และ 7,510 บาท ตามลำดับ และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยที่จะต้องจ่ายให้แก่โจทก์แต่ละคนนับตั้งแต่วันเลิกจ้างคือโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 18 นับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2540 โจทก์ที่ 19 ถึงที่ 241 นับตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2540 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share