แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุคคลที่นายอำเภอท้องที่แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าชลประทานตามพระราชบัญญัติการชลประทานราษฎร์ ย่อมเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
จำเลยเป็นผู้แทนราษฎร กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2492 มาตรา 80 ห้ามมิให้รับตำแหน่งหรือหน้าที่ใดๆจากรัฐโดยมีประโยชน์ตอบแทน จำเลยได้รับแต่งตั้งจากนายอำเภอให้เป็นหัวหน้าการชลประทานราษฎร์ แต่ไม่ปรากฏว่าเป็นตำแหน่งที่ได้รับประโยชน์ตอบแทน เช่นนี้จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานโดยชอบด้วยกฎหมาย
การที่โจทก์บรรยายในฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน 2493 ถึงวันที่ 17 ตุลาคม 2493 จำเลยเบิกเงินคลังไป3 งวด 100,000 บาท ครั้นระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน 2493. ถึง 2 ธันวาคม 2493 เวลากลางวันและกลางคืนจำเลยบังอาจสมคบกันกระทำหลักฐานเท็จและปลอมหนังสือหลายครั้ง โดยทำใบสำคัญจ่ายเงินค่าซ่อมฝายปลอมหลายฉบับ เป็นเงิน 65,744 บาท แสดงต่อกรมชลประทาน ซึ่งความจริงจำเลยหาได้จ่ายเงินไปตามใบสำคัญเหล่านั้นไม่ จำเลยกลับบังอาจมีเจตนาทุจริตคิดยักยอกเงิน 65,744 บาท และต่อไปก็บรรยายถึง วันเดือนปีใบสำคัญที่จำเลยทำทุจริตทุกฉบับเป็นข้อๆ เช่นนี้ไม่เป็นการเคลือบคลุม
อนึ่ง การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าระหว่างวัน….ถึงวัน….. จำเลยได้บังอาจยักยอกสิ่งของ แต่วันต้นของฟ้องเป็นวันที่จำเลยยังไม่ได้รับมอบสิ่งของที่ถูกหายักยอก เพราะความพลั้งเผลอ แต่โจทก์มีพยานสืบว่าจำเลยได้รับของในระหว่างวันในฟ้องนั้น และจำเลยยักยอกไประหว่างนั้น เช่นนี้ยังไม่เป็นการฟ้องเคลือบคลุม
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้มูลกรณีเดียวกัน ศาลจึงได้รวมพิจารณาในคำฟ้องมีว่านายจำรัส มหาวงศนันท์ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานโดยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน และเป็นหัวหน้าชลประทานราษฎร์ฝ่ายสมุนจังหวัดน่าน รัฐบาล (กรมชลประทาน) ให้มีหน้าที่จัดซื้อสิ่งของและทำการซ่อมแซมฝ่ายสมุนให้ถาวรมั่นคงจำเลยได้บังอาจสมคบกันทำผิดกฎหมายหลายกระทงต่างวาระกันคือ
ก. เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2493 นายจำรัสจำเลยได้รับเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่องราคา 26,640 บาทจากกรมชลประทานเพื่อนำไปไว้เป็นสมบัติของชลประทานราษฎร์ฝ่ายสมุน ครั้นวันเวลาใดไม่ปรากฏระหว่างวันที่ 23 เมษายน 2493 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2494 นายจำรัสจำเลยได้ทุจริตยักยอกเอาสูบน้ำ 2 เครื่องนั้นเสียโดยไม่มีอำนาจกระทำได้ เหตุเกิดที่ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน และตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่
ข. เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม2493 นายจำรัสได้รับมอบสิ่งของเครื่องใช้ในการซ่อมฝ่ายสมุนหลายอย่างซึ่งกรมชลประทานส่งผ่านกรมการจังหวัด กรมการอำเภอเมืองน่าน และรับมอบสิ่งของเครื่องใช้ซึ่งจำเลยเอาเงินของทางราชการกรมชลประทานจัดซื้อเองอีกหลายอย่างครั้นระหว่างวันที่ 23 สิงหาคม 2493 ถึงวันที่ 3 เมษายน 2495 วันเวลาใดไม่ปรากฏนายจำรัสได้บังอาจทุจริตยักยอกเอาสิ่งของเหล่านี้ปรากฏตามรายละเอียดในบัญชีท้ายฟ้อง รวมราคา 6,803.14 บาท เหตุเกิดที่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
ค. เมื่อระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน ถึง 17 ตุลาคม 2493 เวลากลางวัน นายจำรัสได้เบิกเงินในราชการของกรมชลประทานรับไปจากคลังจังหวัดน่านรวม 3 งวด เป็นเงิน 100,000 บาท เพื่อใช้จ่ายทำการซ่อมฝ่ายสมุนครั้นระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2493 เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยทั้งสองได้สมคบกันกระทำหลักฐานเท็จและปลอมหนังสือหลายครั้งหลายหนโดยทำใบสำคัญหลายฉบับ รวมเงิน 65,744 บาท ส่งไปแสดงต่อกรมชลประทานโดยให้กรมชลประทานสำคัญผิด เชื่อว่าใบสำคัญเหล่านั้น เป็นหลักฐานที่แท้จริง ซึ่งจำเลยได้จ่ายเงินซ่อมฝายสมุนไป ซึ่งความจริงแล้วจำเลยหาได้จ่ายเงิน 65,744 บาท ไปตามนั้นไม่ จำเลยทุจริตยักยอกเอาเป็นประโยชน์ของตนและพวกเสีย การทำหลักฐานเท็จและปลอมใบสำคัญดังกล่าว จำเลยกระทำดังนี้
1. เมื่อวันเวลาใดไม่ปรากฏ ระหว่างวันเดือนปีในฟ้องข้อ ก. จำเลยสมคบกันทำใบสำคัญรับเงินปลอม ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2493 ว่าได้ซื้อไม้ 100 ท่อน จากนายบุญเติม ราคา 1,000 บาท นายบุญเติมได้รับเงินไปแล้ว ซึ่งความจริงนายบุญเติม มิได้ขายไม้ตามใบสำคัญแก่จำเลย และไม่เคยรับเงิน จำเลยยักยอกเงิน 1,000 บาทนี้เสีย
2. เมื่อวันเวลาใดไม่ปรากฏตามฟ้อง ข้อ ค. จำเลยสมคบกันทำใบสำคัญปลอม ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2493 ว่า ได้ซื้อไม้คร่าวจากนายบุญเติม 200 เล่ม เงิน 2,000 บาท นายบุญเติมได้รับเงินไปแล้วซึ่งความจริงนายบุญเติม มิได้ขายไม้ดังกล่าว และไม่เคยรับเงินจากจำเลย
ฯลฯ (รวม 10 ข้อ)
รวมทรัพย์ที่ยักยอกไป 99,178.14 บาท การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ ค. เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ยักยอกทรัพย์ ปลอมหนังสือ และทำหลักฐานเท็จ เสียหายแก่กรมชลประทานและเสียหายแก่สาธารณชนจึงขอให้ศาลลงโทษและบังคับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์
นายจำรัสให้การปฏิเสธฟ้องตลอดและแก้ว่าจำเลยเป็นผู้แทนราษฎร ไม่ใช่เป็นข้าราชการ จำเลยดำเนินงานไปก็โดยอัธยาศัยไมตรีซึ่งอยู่ในความดูแลของคณะกรมการอำเภอจังหวัดน่าน และต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ส่วนนายชื่นให้การว่ามิได้สมคบรู้เห็นกับนายจำรัส
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยยักยอกเครื่องสูบน้ำสังกะสีและถัง ผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2484 มาตรา 3 ให้จำคุก 1 ปี แต่ให้รอการลงอาญาไว้ ให้คืนสูบน้ำกับคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ส่วนนายชื่นจำเลยให้ปล่อยพ้นข้อหาไป
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ว่า นายจำรัสจำเลยผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 131 และ 230 พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2484 มาตรา 3 รวมกระทงลงโทษ จำคุกนายจำรัส 5 ปี ส่วนนายชื่นผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 230, 65, 59 จำคุก 1 ปี 8 เดือน แต่ให้รอการลงอาญาไว้ 3 ปี และให้นายจำรัสคืนหรือใช้เงิน 65,744 บาท และคืนสูบน้ำด้วย
นายจำรัสจำเลยและโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ก. ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยกระทำผิดในขณะใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 มาตรา 80 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รับตำแหน่งหรือหน้าที่ใดจากรัฐโดยมีประโยชน์ตอบแทน ฉะนั้น การที่อำเภอแต่งตั้งจำเลยให้เป็นหัวหน้ากรมชลประทานราษฎร์ จึงไม่มีผลให้จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน จะถือว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมิได้ จำเลยจะต้องมีประโยชน์ตอบแทนในเรื่องนี้ เห็นว่าการรับแต่งตั้งนี้ไม่ปรากฏว่าเป็นตำแหน่งที่มีประโยชน์ตอบแทน จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ต้องถือว่าจำเลยยังเป็นเจ้าพนักงานอยู่ขณะทำผิด
ข. เรื่องยักยอกสูบนั้น จำเลยว่าโจทก์บรรยายฟ้องเคลือบคลุมเพราะกล่าวว่าจำเลยรับเครื่องสูบน้ำ วันที่ 25 เมษายน 2493 แต่กล่าวว่ายักยอกเมื่อ 23 เมษายน เท่ากับกล่าวว่าจำเลยยักยอกก่อนได้รับมอบ ศาลเห็นว่าตามฟ้องกล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2493 จำเลยได้รับเครื่องสูบน้ำฯ ครั้นเมื่อวันเวลาใดไม่ปรากฏระหว่างวันที่ 23 เมษายน 2493 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2494 จำเลยได้มีเจตนาทุจริตยักยอกฯ เช่นนี้เห็นชัดว่า น่าจะเป็นเพราะพลั้งเผลอซึ่งไม่ทำให้จำเลยเข้าใจผิดในคำฟ้องแต่อย่างใด เพราะโจทก์สืบได้ว่าจำเลยรับสูบน้ำไว้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2493 แล้วจำเลยเอาไปขายแก่ผู้อื่น เจ้าพนักงานไปจับมาได้ จึงไม่มีเหตุที่จะยกฟ้อง
ค. จำเลยเถียงว่า ฟ้องข้อ ค. เคลือบคลุม เพราะไม่ได้กล่าวถึงวันเวลา ที่จำเลยยักยอกนั้น ปรากฏในคำฟ้องมีใจความว่า “เมื่อระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน 2493 ถึง 17 ตุลาคม 2493 จำเลยเบิกเงินจากคลังจังหวัดไป 3 งวด เป็นเงิน 100,000 บาท ครั้นระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน 2493 ถึง 2 ธันวาคม 2493 เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยบังอาจสมคบกับนายชื่น กระทำหลักฐานเท็จและปลอมหนังสือหลายครั้ง โดยทำใบสำคัญจ่ายเงินค่าซ่อมแซมฝายปลอมหลายฉบับ เป็นเงิน 65,744 บาท แสดงต่อกรมชลประทาน ซึ่งความจริงจำเลยหาได้จ่ายเงินไปตามใบสำคัญเหล่านั้นไม่ จำเลยกลับบังอาจมีเจตนาทุจริตยักยอกเงิน 65,744 บาท” และต่อไปโจทก์ได้บรรยายถึงวันเดือนปี ในใบสำคัญทุก ๆ ฉบับ ที่ว่าจำเลยทำทุจริตเป็นข้อ ๆ ไป เช่นนี้ จะว่าเป็นเคลือบคลุมไม่มีวันเดือนปีที่กระทำผิดมิได้ เพราะโจทก์ได้กล่าวตอนต้นแล้วว่าระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน 2493 ถึง 2 ธันวาคม 2493 จำเลยกระทำการทุจริตและได้กล่าวถึงวันเดือนปีในใบสำคัญ นับว่าเป็นฟ้องที่สมบูรณ์แล้วไม่เคลือบคลุม ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้อย่างใดทั้งนี้เพราะโจทก์ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า จำเลยกระทำการทุจริตเงินจำนวนใดในวันไหนแน่
ฯลฯ
จึงพิพากษาว่าจำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 162 ให้แก่โทษจำเลยของนายจำรัสเป็นจำคุก 2 ปี 6 เดือน นอกนั้นยืน