คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1396/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยแต่งงานกัน โดยมิได้จดทะเบียนสมรสภายหลังจากแต่งงานกันประมาณ 2 เดือน โจทก์ทำสัญญาเช่าร้านพิพาทจากวัดโดยจำเลยได้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาเช่านั้นด้วย โจทก์และจำเลยได้พักอาศัยและทำการค้าร่วมกันในร้านพิพาทเป็นเวลาประมาณ 9 เดือนหลังจากนั้นโจทก์ได้เลิกร้างกับจำเลยและออกจากบ้านพิพาทไป ดังนี้ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นคนชำระเงินค่าเซ้งสิทธิการเช่าหรือเป็นผู้เช่าร้านพิพาทมาก็ตาม แต่สิทธิการเช่าร้านพิพาทเกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์และจำเลยอยู่ร่วมฉันสามีภริยากันแล้ว นอกจากนั้นโจทก์และจำเลยได้พักอาศัยและร่วมทำการค้าอยู่ในร้านพิพาทด้วยกันเรื่อยมา สิทธิการเช่าร้านพิพาทเป็นทรัพย์ที่หามาได้โดยโจทก์และจำเลยมีเจตนาเป็นเจ้าของร่วมกัน การที่โจทก์ลงชื่อเป็นผู้เช่าร้านพิพาทแต่เพียงผู้เดียว ไม่เป็นข้อสันนิษฐานว่าจำเลยไม่มีส่วนร่วมด้วย สิทธิการเช่าร้านพิพาทจึงเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินที่นำไปลงทุนร่วมกันในการซื้อสินค้าเข้าร้านที่เช่ามาจากวัด แต่เงินนั้นได้เอาไปซื้อสินค้าไว้จำหน่ายในร้านแล้ว ตามฟ้องมิได้ขอให้แบ่งสินค้าในร้าน ศาลจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยชดใช้เงินตามที่โจทก์ฟ้องได้ แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลฎีกา พิพากษาไม่ตัดสิทธิที่จะนำคำฟ้องไปยื่นใหม่เกี่ยวกับสิทธิสินค้าในร้านต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยไม่จดทะเบียนสมรส และตกลงเลิกร้างกันตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2527 ระหว่างอยู่กินกันโจทก์เช่าบ้านเลขที่ 87-89 ซึ่งเป็นของวัดตานีนรสโมสร มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2526 เพื่อประกอบกิจการค้าร่วมกันในการเช่าบ้านดังกล่าวโจทก์ต้องเสียเงินกินเปล่าให้แก่ผู้เช่าเดิม เป็นจำนวน 400,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ได้ใช้เงินส่วนตัวในการลงทุนการค้าอีกจำนวน 200,000 บาท ต่อมาจำเลยประพฤติตนไม่เหมาะสมขัดขวางต่อการอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา โจทก์จำเลยจึงตกลงเลิกร้างกัน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2527 โดยโจทก์ขอให้จำเลยออกจากบ้านเช่าจำเลยไม่ยินยอม โจทก์จึงขอให้จำเลยชดใช้เงินที่โจทก์ต้องใช้จ่ายไปในการเช่าบ้าน และเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 600,000 บาท จำเลยตกลงรับจะจ่ายให้โจทก์เป็น 2 งวดโจทก์ได้ออกจากบ้านเช่าไปตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2527ครั้นครบกำหนดจำเลยไม่ชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยและบริวารออกจากบ้านพิพาท และให้ชดใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2527เป็นต้นไป จำเลยไม่ยอมออก ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นค่าเช่าบ้านเดือนละ 10,000 บาท กับเงินลงทุนการค้าส่วนตัวอีก200,000 บาท ซึ่งโจทก์ไม่ได้รับประโยชน์จากการประกอบการค้าดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2527 ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 87-89 และส่งมอบบ้านพิพาทคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 120,000 บาทและในอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับจากวันฟ้องต่อไปจนกว่าจำเลยและบริวารได้ส่งมอบบ้านพิพาทแก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยใช้คืนเงินทุนในกิจการค้าอันเป็นเงินส่วนตัวของโจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 218,750 บาท และชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 200,000 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ลงชื่อในสัญญาเช่าบ้านกับผู้ให้เช่าในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันโจทก์ไม่เคยนำเงินมาลงทุนในกิจการค้า 200,000 บาท จำเลยเองได้ขายที่ดินของจำเลยมาเพื่อลงทุนประกอบกิจการค้า โจทก์ไม่สามารถเรียกค่าเสียหายหรือค่าเช่าบ้านพิพาทจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านเลขที่87-89 และส่งมอบบ้านคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย และห้ามมิให้เกี่ยวข้อง ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายถึงวันฟ้อง 84,000 บาท และในอัตราเดือนละ 7,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยคืนเงินทุน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2528 ไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์ แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะนำคดีไปฟ้องร้องจำเลยเกี่ยวกับสิทธิในห้องพิพาทต่อไป โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาแรก โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากร้านพิพาท และเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้แย้งกันแล้วฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยแต่งงานกันในปี 2526โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ภายหลังจากแต่งงานกันประมาณ 2 เดือนโจทก์ทำสัญญาเช่าร้านพิพาทจากวัดตานีนรสโมสรตามหนังสือสัญญาเช่า เอกสารหมาย จ.3 โดยจำเลยได้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาเช่านั้นด้วย โจทก์และจำเลยได้พักอาศัยและทำการค้าร่วมกันในร้านพิพาทเป็นเวลาประมาณ 9 เดือน หลังจากนั้นโจทก์ได้เลิกร้างกับจำเลยและออกจากบ้านพิพาท พิเคราะห์แล้วฝ่ายโจทก์นำสืบว่าโจทก์เซ้งสิทธิการเช่าร้านพิพาทมาจากนายบุญเลิศ อุศุภรัตน์ ในราคา400,000 บาท เงินดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์และของญาติที่โจทก์ยืมมา เมื่อนายบุญเลิศได้รับชำระเงินแล้วได้พาโจทก์ไปทำสัญญาเช่าร้านพิพาทกับวัดตานีนรสโมสรสิทธิการเช่าร้านพิพาทเป็นของโจทก์ผู้เดียว ส่วนจำเลยนำสืบว่าจำเลยเป็นคนเซ้งสิทธิการเช่าร้านพิพาทมาจากนายบุญเลิศในราคา 80,000 บาท เงินดังกล่าวเป็นของจำเลยฝ่ายเดียว แต่ในการทำสัญญาเช่ากับวัดตานีนรสโมสร จำเลยให้โจทก์เป็นคนลงนามเป็นผู้เช่าแทน เห็นว่าไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นคนชำระเงินค่าเซ้งสิทธิการเช่าหรือเป็นผู้เช่าร้านพิพาทมาก็ตามแต่สิทธิการเช่าร้านพิพาทเกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์และจำเลยอยู่ร่วมฉันสามีภริยากันแล้ว นอกจากนั้นข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยได้พักอาศัยและร่วมทำการค้าอยู่ในร้านพิพาทด้วยกันเรื่อยมา พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่า สิทธิการเช่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์ที่หามาได้โดยโจทก์และจำเลยมีเจตนาเป็นเจ้าของร่วมกันการที่โจทก์ลงชื่อเป็นผู้เช่าร้านพิพาทแต่เพียงผู้เดียว ไม่เป็นข้อสันนิษฐานว่า จำเลยไม่มีส่วนร่วมด้วย รูปคดีต้องฟังว่าสิทธิเช่าร้านพิพาทเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 83/2512 ระหว่าง นางส้มลิ้ม เมืองยศ โจทก์นางสวยพริ้ง สีไพบูลย์ จำเลย นายเยาฮะ แซ่ม้า ผู้ร้องดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากเหตุที่จำเลยไม่ยอมออกจากร้านพิพาท ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้าย โจทก์เรียกเงินที่นำไปลงทุนในการค้ากับจำเลยได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ซื้อสินค้ามาขายในร้านพิพาทเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท โจทก์จำเลยได้ร่วมลงทุนด้วยเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท นั้น เห็นว่า หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์นำสืบโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินที่นำไปลงทุนร่วมกับจำเลยแล้ว เนื่องจากเงินที่โจทก์นำไปลงทุนได้เอาไปซื้อเป็นสินค้าไว้จำหน่ายในร้านแล้วสินค้าที่โจทก์ซื้อมาย่อมจะต้องมีทั้งขายไปและซื้อมาใหม่ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการค้าโดยทั่วไป ดังนั้น ในเวลาที่โจทก์เลิกร้างกับจำเลยสินค้าในร้านอาจมีมากหรือน้อยกว่าที่เริ่มซื้อมาในครั้งแรก แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า ขณะที่โจทก์เลิกร้างกับจำเลยมีสินค้าอยู่ในร้านเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด อีกประการหนึ่ง ตามฟ้องโจทก์มิได้ฟ้องขอให้แบ่งสินค้าในร้านพิพาทจากจำเลยกลับฟ้องเรียกเงินที่โจทก์นำไปเป็นทุนในการซื้อสินค้าเข้าร้าน ศาลจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยชดใช้เงินตามที่โจทก์ฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์นำเงินไปลงทุนซื้อสินค้าในร้านพิพาทจึงไม่ให้ โจทก์ได้รับชดใช้เงินดังกล่าวจากจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เห็นควรไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องไปยื่นใหม่เกี่ยวกับสิทธิสินค้าในร้านพิพาทด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะนำคดีไปฟ้องร้องจำเลยเกี่ยวกับสิทธิสินค้าในร้านพิพาท ภายในกำหนดอายุความนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share