แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เดิมที่ดินบนเกาะในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูลได้กำหนดไว้ให้เป็นเขตหวงห้ามเพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะในท้องที่ตำบลยะระโดด อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูลพ.ศ. 2482 ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมาตั้งแต่ปี 2482 แม้ต่อมาจะได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ได้หวงห้ามไว้ตามความต้องการของกรมราชทัณฑ์ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูลจังหวัดสตูล พ.ศ. 2517 เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ไม่ต้องการหวงห้ามที่ดินดังกล่าวอีกต่อไป แต่ก็ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินเกาะตะรุเตา เกาะอาดังเกาะราวีและเกาะอื่นๆในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูลให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2517 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันเดียวกัน แสดงว่าการถอนสภาพที่ดินดังกล่าวก็เพื่อจะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพธรรมชาติให้เป็นการถาวรซึ่งมีผลทำให้ที่ดินพิพาทยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่นั่นเองเพียงแต่เป็นที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติและอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ดังนั้น การที่จำเลยได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้เข้ามาปลูกสร้างอาคารที่ทำการศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ ถือได้ว่าจำเลยปลูกสร้างอาคารโดยสุจริต แม้โจทก์จะมีชื่อใน น.ส.3 ซึ่งระบุว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่ากรมป่าไม้ ทั้งคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์หรือกรมป่าไม้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน หรือการออก น.ส.3 สำหรับที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 39 หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล เนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ จำเลยได้ก่อสร้างที่ทำการรักษาความปลอดภัยทางทะเลบนที่ดินบางส่วนของโจทก์ดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ10 ตารางวา โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์เพื่อก่อสร้างศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลโดยสุจริต โจทก์ไม่ฟ้องเพื่อเอาคืนที่ดินพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองจึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริต ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา พ.ศ. 2517 จำเลยไม่ทราบว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือเป็นที่ดินที่มีผู้ครอบครอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอาคารที่ทำการศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลออกไปจากที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 39 ตำบลเกาะสาหร่ายอำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 39 หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะสาหร่ายอำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล เนื้อที่ 17 ไร่ มีชื่อโจทก์และนายสุพล สมานุกร บิดาโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามเอกสารหมาย จ.1 หนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวออกให้แก่นายบาบ๋า แซ่โก้ย ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2511 แล้วมีการโอนสิทธิครอบครองกันหลายทอดจนถึงโจทก์และนายสุพล บิดาโจทก์ได้รับโอนสิทธิครอบครองมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2534 สำหรับที่ดินในท้องที่หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล เดิมมีพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2482 กำหนดให้เป็นเขตหวงห้ามเพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์ ต่อมามีพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2517 ให้ถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ได้หวงห้ามไว้ตามความต้องการของกรมราชทัณฑ์ดังกล่าว และออกพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวีและเกาะอื่น ๆ ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2517 ซึ่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับเมื่อวันที่ 20 เมษายน2517 ตามเอกสารหมาย ล.10 และ ล.11 และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตานี้อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อเดือนมกราคม 2532 จำเลยได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ผู้มีอำนาจดูแลอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาให้ปลูกสร้างที่ทำการศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลเป็นเนื้อที่ 10 ไร่ โดยกำหนดแนวเขตให้จำเลยจึงปลูกสร้างอาคารเป็นที่ทำการศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลขึ้นในบริเวณพื้นที่ที่กรมป่าไม้กำหนดให้แล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2532มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยปลูกสร้างศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา โดยได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลอุทยานแห่งชาติเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่าเดิมที่ดินบนเกาะในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ได้กำหนดไว้ให้เป็นเขตหวงห้ามเพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะในท้องที่ตำบลยะระโดด อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล พ.ศ. 2483ดังนั้นที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินมาตั้งแต่ปี 2482 แล้ว แม้ต่อมาจะได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ได้หวงห้ามไว้ตามความต้องการของกรมราชทัณฑ์ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูลจังหวัดสตูล พ.ศ. 2517 เนื่องจากกรมราชทัณฑ์ไม่ต้องการหวงห้ามที่ดินดังกล่าวอีกต่อไปแต่ก็ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินเกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะอื่น ๆ ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2517 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันเดียวกันอันเป็นการแสดงว่า การถอนสภาพที่ดินดังกล่าวก็เพื่อจะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพธรรมชาติให้เป็นการถาวรซึ่งมีผลทำให้ที่ดินพิพาทยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่นั่นเอง เพียงแต่เป็นที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติและอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ดังนั้น การที่จำเลยได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้เข้ามาปลูกสร้างอาคารที่ทำการศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเลในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยปลูกสร้างอาคารโดยสุจริต แม้โจทก์จะมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่ากรมป่าไม้ ทั้งคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์หรือกรมป่าไม้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน หรือการออก น.ส.3 สำหรับที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง