แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ที่จะออกใบกำกับภาษีได้ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเป็นผู้ขายสินค้า จำเลยรับจ้างบริษัทโรเยลเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด ก่อสร้างโรงงาน จำเลยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อวัสดุก่อสร้างมาใช้ในกิจการ จำเลยทราบดีว่าบริษัท ส. ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีให้ได้ เมื่อนางอัญชลี พนักงานบัญชีของบริษัทโรเยลเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด ตรวจพบว่ามีบิลเงินสด / ใบกำกับภาษีฉบับหนึ่ง รวมตัวเลขผิดไป 9 บาท จำเลยได้แจ้งให้นางอัญชลี ติดต่อไปยังบริษัทไม้แสงวิวัฒน์ (1988) จำกัด ผู้ออกบิลเงินสด / ใบกำกับภาษี โดยตรง อันเป็นการนำสืบในทำนองว่า จำเลยไม่ทราบว่า บิลเงินสด / ใบกำกับภาษี ดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิปลอมนั้น เห็นว่าตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหาลงวันที่ 30 มิถุนายน 2537 ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ ซึ่งต่อมาจำเลยได้ไปพบพนักงานสอบสวนและได้ให้การเพิ่มเติมตามที่จำเลยอ้างนี้ อันเป็นเวลาภายหลังเกือบสองปีแล้วตามใบต่อคำให้การ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2539 และตามคำเบิกความของนางอัญชลี พยานโจทก์ ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้แจ้งให้ นางอัญชลีติดต่อไปยังบริษัทไม้แสงวิวัฒน์ (1988) จำกัด โดยตรงแต่อย่างใด นอกจากนี้ข้อเท็จจริงในคดียังปรากฏว่า บิลเงินสด / ใบกำกับภาษีดังกล่าวได้มีการส่งมอบจากนายกัง (นายวิรัตน์) ให้แก่นายกี่เฮียก และนายกี่เฮียกส่งมอบให้แก่นายประวิทย์จนมาถึงจำเลยเป็นทอด ๆ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐาน การที่จำเลยรู้ว่าบิลเงินสดใบกำกับภาษีของกลางเป็นเอกสารสิทธิปลอม แล้วจำเลยนำไปใช้ จำเลยจึงมีความผิดข้อหาใช้เอกสารสิทธิปลอม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๒๖๔, ๒๖๕ และ ๒๖๘ ประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๗/๑, ๘๒/๓, ๘๓, ๘๓/๑, ๘๓/๔, ๘๖/๑๓, ๙๐/๔, ๙๐/๔ (๓) และ ๙๐/๔ (๗) ริบเอกสารปลอมของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ ประกอบมาตรา ๒๖๕ และประมวลรัษฎากร มาตรา ๘๖/๑๓, ๙๐/๔ (๓) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยรับจ้างบริษัทโรเยลเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด ก่อสร้างโรงงานตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ โดยบริษัทโรเยลเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด เป็นผู้ออกค่าวัสดุก่อสร้างแต่ให้จำเลยเป็นผู้จัดซื้อ ระหว่างวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยนำบิลเงินสด / ใบกำกับภาษีของกลางซึ่งระบุว่า บริษัทไม้แสงวิวัฒน์ (๑๙๘๘) จำกัด ขายสินค้าให้แก่บริษัทโรเยลเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด อันเป็นเอกสารสิทธิที่ผู้อื่นทำปลอมขึ้นไปใช้เรียกเก็บเงินจากบริษัทโรเยลเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาใช้เอกสารสิทธิปลอมหรือไม่ เห็นว่า ผู้ที่จะออกใบกำกับภาษีได้ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเป็นผู้ขายสินค้า จำเลยประกอบอาชีพ รับเหมาก่อสร้างซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการซื้อวัสดุก่อสร้างมาใช้ในกิจการ จำเลยรู้จักและติดต่อซื้อสินค้าจากร้านโสภณชัยซึ่งเป็นร้านของนายประวิทย์ โสภณชัย เป็นเวลาประมาณ ๑๐ ปี เมื่อจำเลยซื้อสินค้าจากร้านโสภณชัย แต่มิได้ซื้อสินค้าจากบริษัทไม้แสงวิวัฒน์ (๑๙๘๘) จำกัด จำเลยย่อมทราบดีว่าบริษัท ไม้แสงวิวัฒน์ (๑๙๘๘) ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีให้ได้ ที่จำเลยนำสืบว่าเมื่อนางอัญชลี จงประสิทธิ์ พยานโจทก์ ซึ่งเป็นพนักงานบัญชีของบริษัทโรเยลเมทัลอินดัสทรีส์ จำกัด ตรวจพบว่า บิลเงินสด / ใบกำกับภาษีฉบับหนึ่งรวมตัวเลขผิดไป ๙ บาท จำเลยได้แจ้งให้นางอัญชลีติดต่อไปยัง บริษัทไม้แสงวิวัฒน์ (๑๙๘๘) จำกัด ผู้ออกบิลเงินสด / ใบกำกับภาษีโดยตรง อันเป็นการนำสืบในทำนองว่า จำเลย ไม่ทราบว่า บิลเงินสด / ใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิปลอมนั้น เห็นว่า ตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหา ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ซึ่งต่อมาจำเลยได้ไปพบพนักงานสอบสวน และได้ให้การเพิ่มเติมตามที่จำเลยอ้างนี้อันเป็นเวลาภายหลังเกือบสองปีแล้วและตามคำเบิกความของนางอัญชลี พยานโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้แจ้งให้นางอัญชลีติดต่อไปยังบริษัทไม้แสงวิวัฒน์ (๑๙๘๘) จำกัด โดยตรงแต่อย่างใด นอกจากนี้ข้อเท็จจริงในคดียังปรากฏว่า บิลเงินสด / ใบกำกับภาษีดังกล่าวได้มีการส่งมอบจากนายกัง (นายวิรัตน์) ให้แก่นายกี่เฮียกและนายกี่เฮียกส่งมอบให้แก่นายประวิทย์จนมาถึงจำเลยเป็นทอด ๆ พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ศาลฎีกาเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยรู้ว่าบิลเงินสด / ใบกำกับภาษีของกลางเป็นเอกสารสิทธิปลอม เมื่อจำเลยนำไปใช้จำเลยมีความผิดข้อหาใช้เอกสารปลอม แต่อย่างไรก็ตามจำเลยประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นคนดีและประกอบสัมมาชีพได้ต่อไป จึงเห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและไม่คิดกระทำผิดอีกจึงควรให้ปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง และคุม ความประพฤติจำเลยไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๒๖๕ ลงโทษจำคุก ๒ ปี และปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างนับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ หนึ่งในสี่ คงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน และปรับ ๗,๕๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ และคุมความประพฤติจำเลยไว้ ๑ ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ๔ ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด ๓๐ ชั่วโมง หากไม่ชำระค่าปรับให้ จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ .